ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ(กคช.) ยืนยันแผนปรับลดโครงการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรลงเหลือไม่เกิน 3 แสนยูนิตสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง โดยได้เจรจากับผู้รับเหมาที่เซ็นสัญญาว่าจ้างไปแล้วให้ระงับโครงการบางส่วนที่ยังก่อสร้างไปไม่มาก เตรียมเปิดให้เช่าซื้อตรงสำหรับผู้ที่กู้แบงก์ไม่ผ่าน
"เราเซ็นสัญญาก่อสร้างไปหมดแล้ว ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยมีจำนวนคร่าวๆ ราว 4 แสนยูนิต" นายสุชาติ ศิริโยธิพันธุ์ ผู้ว่าการ กคช.คนใหม่ กล่าวทางรายการวิทยุเช้านี้
ขณะนี้สามารถก่อสร้างเสร็จแล้ว 7.6 หมื่นยูนิต และขายได้แล้วเกือบ 5 หมื่นยูนิต ส่วนที่เหลือจะทยอยสร้างในปี 51 จำนวน 7 หมื่นยูนิต ในปี 52 จำนวน 7 หมื่นยูนิต และครบทั้งโครงการอีก 5 หมื่นยูนิตในปี 53
"ส่วนที่เหลือ(คุณสมบัติของผู้กู้)ไม่ผ่านแบงก์ เราจะช่วยเหลือโดยให้มาเช่าซื้อกับการเคหะฯ" นายสุชาติ กล่าว
กคช.คาดว่าจะต้องหาเม็ดเงินราว 7 พันล้านบาท เพื่อมาปล่อยกู้ให้กับเจ้าของบ้านเอื้ออาทรจำนวน 2 หมื่นยูนิต ซึ่ง กคช.มีแผนการกู้เงินและออกพันธบัตร
ผู้ว่าการ กคช.กล่าวว่า สำหรับความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งโครงการ บางแห่งมีผู้สนใจมากจนต้องเปิดทำสัญญาถึง 5 ทุ่ม และเชื่อว่าในปี 50 จะมีกำลังซื้อดีอยู่ แต่อาจมีโครงการเหลืออยู่ราว 10% หรือประมาณ 7 พันยูนิต
ผลจากการดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทรทำให้ กคช.มีภาระหนี้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แต่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติของการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องไปกู้เงินมาลงทุนก่อน โดยในปีหน้าคาดว่าจะสร้างขายโครงการได้ราว 1 แสนยูนิต ซึ่งจะทำรายได้เพียงพอที่ กคช.จะชำระหนี้
"การทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องไปกู้เงินมาก่อสร้าง ก็ไม่ผิดที่เรียกว่าหนี้ มันไม่ใช่ตัวเลขที่น่าตกใจ เมื่อขายได้แล้วก็ได้เงินกลับเข้ามา" นายสุชาติ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--