ธนาคารโลก ร่วมกับ UNICEF Thailand และ Gallup Poll เปิดผลสำรวจครัวเรือนและความยากจนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า การดำเนินมาตรการภาครัฐที่ผ่านมาช่วยลดผลกระทบได้มาก เพราะสามารถครอบคลุมและเข้าถึงกลุ่มเปราะบางได้ถึง 80% ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของคนยากจนเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำจาก 6.2% ในปี 62 เพิ่มเป็น 6.4% ในปี 63 แต่หากไม่มีการดำเนินมาตรการภาครัฐขยายตัวเพิ่มเป็น 7.4%
ดังนั้นยังมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ภาครัฐจะต้องดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่อง โดยปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกันสถานการณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกันซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในอนาคต
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "การยุติความยากจนในประเทศไทย: การฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างทั่วถึง" ว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 63 ส่งกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทำให้จีดีพีหดตัว -6.1% ส่วนในปีนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะกลับมาขยายตัวได้ 1% หลังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 4% ในปี 65
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ใช้งบประมาณเยียวยาไปเกือน 1 ล้านล้านบาทแล้ว โดยมีประชาชนที่อยู่ในระบบสวัสดิการทั้งหมดราว 44 ล้านคน สำหรับทิศทางการดำเนินการในระยะต่อไปจะมีการจัดสวัสดิการให้เข้าถึงกลุ่มคนเปราะบาง, การนำ Big Data มาใช้ออกแบบนโยบายให้เหมาะสมกับกลุ่มคนและพื้นที่, การเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ และลดบทบาทการเยียวยา แต่เพิ่มบทบาทการฟื้นฟูและกระตุ้นการบริโภค โดยคำนึงถึงกรอบวินัยทางการเงินการคลัง โดยในปีงบประมาณ 65 จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจาก 3 ส่วน คือ 1.งบประมาณรายจ่ายปี 65 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท 2.พ.ร..ก.เงินกู้ฯ วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งยังเหลืออยู่ 3 แสนล้านบาท และ 3.โครงการลงทุนผ่านงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจวงเงิน 3 แสนล้านบาท
"บทเรียนที่ได้จากวิกฤตครั้งนี้คือ การออกมาตรการต่างๆ ควรต้องมีฐานข้อมูล โดยการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ จะทำให้ครอบคลุม ไม่เกิดปัญหาตกหล่น" นายพรชัย กล่าว
ด้านนายสมชาย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ระบบสวัสดิการไม่ใช่เรื่องการสงเคราะห์ แต่เป็นระบบที่จะช่วยการพัฒนาประเทศโดยใช้คนเป็นศูนย์กลาง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณให้เหมาะสมกับภารกิจ โดยลดการใช้จ่ายด้านเศรษฐกิจแล้วไปเพิ่มด้านสังคม นำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่นำไปลงทุนผลิตสินค้าเพื่อแข่งขันกับภาคเอกชน ซึ่งจะเห็นตัวอย่างที่ดีจากโครงการอีอีซีที่เปิดให้เอกชนเข้าร่วมทุน (PPP)
หากภาครัฐจะจัดระบบสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้า ได้แก่ ประกันรายได้กึ่งถ้วนหน้า, ทักษะกึ่งถ้วนหน้า, ดูแลเด็กเล็กถ้วนหน้า ประกันสังคมพื้นฐานถ้วนหน้า อุดหนุนเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า ขณะที่มีแนวทางเพิ่มรายได้ที่จะนำมาใช้เรื่องนี้ด้วยการเพิ่มฐานภาษี และความก้าวหน้าของระบบภาษี เช่น การปรับขึ้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, การปรับขันภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10%, การปรับขึ้นภาษีเงินได้
ส่วนการดำเนินมาตรการภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาความยากจนไม่ให้มีผู้ถูกทอดทิ้ง โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือ กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ที่จบการศึกษาแค่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
"เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่าให้เป็นเพียงแค่วาทกรรม แต่ต้องทำอย่างจริงจัง" นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า กระบวนการคัดกรองผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือต้องปรับเปลี่ยนไปจากเดิม โดยต้องเป็นการคัดกรองคนรวยออก ไม่ใช่คัดกรองคนจนเข้าจะช่วยแก้ปีญหาตกหล่นได้ เช่น การเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หากรัฐดึงทุกคนเข้าระบบทั้งหมดจะใช้งบราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งใช้งบพอกับการออกมาตรการช่วยเหลือ
นางนลิตา ไทยประเสริฐ ตัวแทนจากมูลนิธิเชีย กล่าวว่า หลังวิกฤตโควิด-19 จะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานตามมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีบางเรื่องที่อยากเสนอให้มีการปรับเปลี่ยน เช่น การเกณฑ์ทหาร เพราะจะดึงคนวัยทำงานออกไปจากระบบเศรษฐกิจ
นายไตรภูมิ สาระผล นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์แหล่งงานใหม่ๆ ต้องมีการปรับหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่นทันโลก เพราะเทคโนโลยีจะวิ่งหนีห่างจากหลักสูตรไปเรื่อยๆ ขณะที่รูปแบบของการจ้างงานจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศ และสิ่งที่เป็นห่วง คือ ระบบสวัสดิการของรัฐที่ควรมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย