พาณิชย์ เชื่อมาตรการช่วยค่าครองชีพช่วยกดเงินเฟ้อทั้งปีไม่หลุดกรอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 12, 2021 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (อธิบดี สนค.) เปิดเผยถึงกรณีที่หลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนมีความกังวลต่อดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ต.ค. 64 ที่ปรับตัวสูงขึ้น 2.38%(YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนว่า เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นนี้ มีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่สูงขึ้นต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก ซึ่งรัฐบาลได้เข้ามาดูแลราคา โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล และคาดว่าในระยะต่อไป ราคาน้ำมันจะส่งผลต่อเงินเฟ้อไม่มากนัก เนื่องจากฐานราคาเริ่มใกล้เคียงกับปีก่อน และยังมีสินค้ากลุ่มผักสด โดยเฉพาะผักใบ (ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักชี) ที่พื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อย ราคาจึงขยับขึ้นแต่ก็เป็นช่วงสั้น ๆ เนื่องจากในช่วงต่อไปจะมีผลผลิตผักตามฤดูกาล และที่ปลูกเพิ่มหลังน้ำท่วมคลี่คลายเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อยังมีแนวโน้มลดลงจากมาตรการของภาครัฐ ที่ดูแลด้านค่าครองชีพ ทั้งการเพิ่มวงเงินในโครงการคนละครึ่ง การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การดูแลราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และค่าสาธารณูปโภค รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ช่วยลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างมั่นคง

นอกจากนี้ มาตรการลดค่าครองชีพที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้หน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ทั้งการจัดส่งรถโมบายนำผักสดราคาถูก ออกจำหน่ายให้กับประชาชนและร้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และในจังหวัดต่าง ๆ ตามความเหมาะสม จะเป็นส่วนช่วยลดความร้อนแรงของราคาผักสด และยังมีการลดราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการพาณิชย์ลดราคา เพื่อประชาชน จะเป็นส่วนช่วยลดภาระค่าครองชีพ ทำให้สินค้าราคาลดลง และจะกดดันให้เงินเฟ้อลดลงได้ในระยะต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ

นายรณรงค์ กล่าวว่า เงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.- ต.ค.) ปี 2564 สูงขึ้น 0.99% (AoA) ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด ระหว่าง 1.0 - 3.0% (ค่ากลางที่ 2.0%) แสดงให้เห็นว่า ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการอยู่ในระดับใกล้เคียงปกติ และยังมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ สนค. ประเมินว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.8 - 1.2% ค่ากลางอยู่ที่ 1.0% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง และไม่น่ากังวลนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ