นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้เข้าร่วมการประชุมหารือกับนายเดเมียน โอ คอนเนอร์ รัฐมนตรีการค้าและการเติบโตทางการส่งออกของนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 64 ผ่านระบบการประชุมทางไกล
นายสรรเสริญ ยังได้แสดงความยินดีกับนิวซีแลนด์ที่ได้ยื่นสัตยาบันความตกลง RCEP เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้จำนวนประเทศสมาชิก RCEP ที่ยื่นสัตยาบันครบตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่งผลให้ความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ม.ค. 65 โดยทั้งสองฝ่ายต่างเชื่อมั่นว่า ความตกลง RCEP จะเป็นส่วนสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค และภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย
นายสรรเสริญ ยังได้ใช้โอกาสนี้ ขอให้นิวซีแลนด์พิจารณานำเข้าสินค้าศักยภาพจากไทย และเป็นที่ต้องการของตลาดนิวซีแลนด์ เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ภายหลังโควิด-19 เช่น กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (โดยเฉพาะกากมันสำปะหลัง) ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับอาหารสัตว์ในอุตสาหกรรมโคนมของนิวซีแลนด์
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย. 64) การค้าระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์มีการขยายตัวเป็นที่น่าพอใจถึง 41.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 63 โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,994.19 ล้านเหรียญสหรัฐ (62,090.28 ล้านบาท) ซึ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปนิวซีแลนด์ มูลค่า 1,381.97 ล้านเหรียญสหรัฐ (42,787.50 ล้านบาท) และนำเข้าจากนิวซีแลนด์ มูลค่า 612.22 ล้านเหรียญสหรัฐ (19,302.78 ล้านบาท)
นายสรรเสริญ ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของนิวซีแลนด์ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีนี้ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมพร้อมรับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปีหน้า สำหรับกระทรวงพาณิชย์ จะรับผิดชอบประเด็นหลักเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ซึ่งจะมีการหารือเรื่องการจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) เอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) หลังยุคโควิด-19 เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และประเด็นการค้าใหม่ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งไทยยังให้ความสำคัญต่อแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ที่จะเป็นสิ่งกระตุ้นการเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมไปสู่ความสมดุลในทุกมิติ ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน