ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองปี 51 ธุรกิจแบงก์ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่บั่นทอนกำไร

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 20, 2007 18:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า แม้ว่าในปี 2551 ธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะมีการรายงานผลประกอบการที่สดใสขึ้น จากภาระการกันสำรองที่คงจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่การดำเนินธุรกิจคงจะเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจไทยที่เผชิญหลากหลายปัจจัยเสี่ยง  
เนื่องจากในปี 2551 ธนาคารพาณิชย์ไทยมีโอกาสเผชิญความซับซ้อนของปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์จากทางการ และด้านที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจโดยตรง
ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ไทยยังต้องประสบกับภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจ SMEs และธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ซึ่งตัวแปรต่างๆ เหล่านี้ คงจะทำให้การรักษาความสามารถในการทำกำไรมีความซับซ้อนมากขึ้นในปี 2551
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อดี (Core Performing Loans) จะอยู่ในกรอบประมาณ 7.5-10.0% เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัว 5.4-6.3% ณ สิ้นปี 2550 และ 5.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 ที่ผ่านมา หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในไตรมาส 1/2551 ที่น่าจะยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจต่อสถานการณ์ทางการเมือง
ตลอดจนความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย ผนวกกับการใช้จ่ายภาครัฐตามกรอบงบประมาณขาดดุลปี 2551 ที่สูงขึ้น และการดำเนินการก่อสร้างตามโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่บางโครงการน่าจะเริ่มต้นการก่อสร้างได้ภายในสิ้นปี 2550 คาดว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในกรอบที่สูงขึ้นจากตัวเลขประมาณการที่ 4.3-4.5% ในปี 2550 มาที่ 4.5-6.0% ได้ในปี 2551 ถึงแม้ว่าภาคการส่งออกของไทยจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงและผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เผชิญปัญหาซับไพร์มอยู่ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้นมาก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีท่าทีที่ระมัดระวังต่อแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2551 มากขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบทยอยปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2550 จนเข้าใกล้ 95-100 ดอลลาร์/บาร์เรลในปัจจุบัน ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายลงก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศ และอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ขณะเดียวกัน ก็อาจกดดันให้การรักษานโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของธปท.ประสบกับความยากลำบากมากขึ้น
ดังนั้น จึงคาดว่าในกรณีที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยปี 2551 เพิ่มขึ้นจากกรณีพื้นฐานที่ 78.3 ดอลลาร์/บาร์เรล มาที่ 88.34-98.34 ดอลลาร์/บาร์เรล (ซึ่งจะรองรับความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันอาจขึ้นไปสูงถึง 103-113 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในช่วงระหว่างปี) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2551 อาจลดลงต่ำกว่า 4.6% ซึ่งน่าจะทำให้สินเชื่อดีของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยขยายตัวไม่เกิน 7%
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์จากทางการที่ในปี 2551 มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เช่น หลักเกณฑ์การคำนวณเงินกองทุนใหม่ Basel II (ที่จะเริ่มบังคับใช้จริง ณ สิ้นปี 2551) แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่สอง (ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นร่างสมบูรณ์ฉบับแรกภายในไตรมาส 1/2551) ร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ซึ่ง ปัจจุบัน ร่างกฎหมายได้ผ่านการพิจารณาของ สนช.วาระแรกแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณารายมาตราโดยคณะกรรมการวิสามัญ ขณะที่คาดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 ของสนช.ได้ภายในต้น ธ.ค.2550 ซึ่งจะทำให้สามารถประกาศใช้ได้ทันภายในสิ้นปี 2550 ขณะที่ หากเลยกำหนดการดังกล่าว ร่างกฎหมายก็คงจะไม่สามารถบังคับใช้ได้ทันภายในปีนี้) ร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน (ซึ่ง ปัจจุบัน อยู่ในสถานะเดียวกันกับร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก) รวมทั้งการกำกับดูแลแบบรวมกลุ่ม (ที่อาจเริ่มรายงานจริงในปี 2551 ขึ้นกับการประกาศใช้กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน)
สำหรับกฎเกณฑ์ที่คาดว่าน่าจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งขึ้นอยู่กับรายละเอียดของร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สนช.ว่าจะแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ รวมทั้ง ระยะเวลาที่ สนช.จะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้นำออกใช้
ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจธนาคาร ได้แก่ การบริหารจัดการสภาพคล่อง ที่ศูนย์วิจัยฯ คาดว่า ในปี 51 อาจมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น จากการขยายสินเชื่อที่เร่งขึ้น รวมถึงการไหลออกของเงินฝากไปยังผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน เนื่องจากความแตกต่างของอัตราผลตอบแทน การระดมเงินฝากของสถาบันการเงินตามความจำเป็นทางธุรกิจ
ทั้งนี้ เงื่อนไขต่างๆ ดังกล่าว อาจกระตุ้นให้วัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ โดยเฉพาะจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อระบบในวงกว้างนั้น อาจเริ่มต้นเร็วกว่าที่คาด และเร็วกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินจาก ธปท.
ขณะที่ ในวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยต้องเผชิญข้อจำกัดจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินที่อยู่ในระดับต่ำกว่าครั้งก่อนมาก ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในครั้งนี้ อาจตามมาด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่ค่อนข้างกระชั้นชิด ซึ่งแม้ว่าการดำเนินการดังกล่าว จะช่วยประคับประคองฐานะการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ไทย แต่ก็อาจมีผลในการชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้
สำหรับในปี 2551 อำนาจซื้อของผู้บริโภคที่อาจลดลงจากปัญหาเงินเฟ้อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น อาจซ้ำเติมปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งมีทิศทางที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจยังต้องรักษานโยบายการกันสำรองหนี้เสียที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อไป
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะดังกล่าว ธนาคารพาณิชย์ที่มีศักยภาพทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการวางกลยุทธ์ธุรกิจในระยะปานกลาง-ยาวได้ดีกว่า คงจะสามารถรักษาโพสิชั่นและความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าได้ในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ