(เพิ่มเติม) สนพ.ประกาศนโยบายลอยตัวราคาก๊าซ LPG คาดขายปลีกขยับขึ้นใน 1-2 วัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 30, 2007 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประกาศนโยบายลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มมีผลวันนี้ (30 พ.ย.) ทำให้ราคาขายส่งก๊าซหุงต้มปรับขึ้นในระลอกแรก 1.20 บาท/กก.ส่วนราคาขายปลีกคาดว่าจะปรับขึ้นภายใน 1-2 วันนี้
นายวีระพล จิระประดิษฐ์กุล ผู้อำนวยการ สนพ.เปิดเผยว่า สนพ.ประกาศนโยบายลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม(LPG)มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยจะยกเลิกการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยราคาก๊าซ ซึ่งจะทำให้ราคาขายส่งปรับขึ้น 1.20 บาท/กก. ส่วนราคาขายปลีกนั้นผู้ค้าก๊าซจะต้องแจ้งต่อกรมการค้าภายในก่อน จึงคาดว่าจะปรับราคาก๊าซ LPG ในอัตราเดียวกันภายใน 1-2 วันนี้
การลอยตัวราคาก๊าซ LPG โดยยกเลิกการอุดหนุนด้วยเงินกองทุนน้ำมันฯ ครั้งนี้ เป็นเพียงระยะแรก ส่วนการยกเลิกชดเชยราคาที่หน้าโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซจะเป็นระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ครั้งนี้ จะมีผลกระทบไม่มาก โดยราคาอาหาร อาทิ ข้าวแกงหรือก๋วยเตี๋ยวจะมีต้นทุนสูงขึ้นเพียงจานละ 4 สตางค์ ส่วนรถแท็กซี่ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเพียงวันละ 20 บาทเท่านั้น
นายวีระพล กล่าวถึงสาเหตุที่กระทรวงพลังงาน มีความจำเป็นต้องปรับราคาก๊าซหุงต้มในครั้งนี้ เนื่องจากพบว่าในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้นโยบายตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มมาโดยตลอด แม้จะมีการปรับขึ้นเป็นครั้งคราว แต่ก็ยังน้อยกว่าต้นทุนในการผลิตก๊าซ โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เก็บจากน้ำมันชนิดอื่นมาจ่ายชดเชย จนมีผลให้ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มต่ำกว่าน้ำมันชนิดอื่นๆ ทำให้เกิดการใช้ก๊าซหุงต้มแทน โดยในภาคขนส่ง ผู้ใช้รถยนต์ได้เปลี่ยนมาใช้ก๊าซหุงต้มแทนน้ำมันเบนซิน และภาคอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนมาใช้แทนน้ำมันเตา โดยเฉพาะในภาคขนส่งนั้น พบว่าปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ในปี 2549 ที่ผ่านมา มีการใช้เพิ่มถึง 51.6% และในปี 2550 นี้ มีการใช้เพิ่มขึ้น 29.7% ขณะที่การผลิตก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นเพียง 0.5 % ในปี 2549 และ 6.8% ในปี 2550 ซึ่งหากปล่อยให้มีการใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้เกิดการขาดแคลนก๊าซหุงต้มในอนาคตอันใกล้นี้
นอกจากนี้ จากราคาก๊าซหุงต้มในประเทศที่จำหน่ายต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้เกิดการลักลอบส่งออก ซึ่งทำให้สูญเสียเงินจากกองทุนน้ำมันฯ รวมทั้งการใช้ก๊าซหุงต้มมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในเครื่องยนต์เพิ่มขึ้น ทำให้ขาดรายได้จากการส่งออกและสูญเสียโอกาสจากการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า
“ราคาก๊าซหุงต้มได้ถูกชดเชย 2 ระดับ คือ การชดเชยโดยตรงจากกองทุนน้ำมัน โดยผู้ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อมาชดเชยผู้ใช้ก๊าซหุงต้ม ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันที่มีทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังมีการชดเชยโดยอ้อมจากผู้ผลิตก๊าซหุงต้ม จากการที่รัฐบาลได้กำหนดราคาก๊าซหุงต้มอยู่ในระดับไม่เกิน 320 เหรียญต่อตัน ในขณะที่ราคาตลาดโลกอยู่ในระดับประมาณ 740 เหรียญต่อตัน ทำให้เกิดส่วนต่างด้านราคา ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิต และผู้ค้าก๊าซหุงต้ม อยากส่งออกมากกว่าจำหน่ายในประเทศ โดยการปรับราคาครั้งนี้เป็นการลดภาระการชดเชยจากกองทุนน้ำมัน และได้มีการกำหนดสูตรราคา ณ โรงกลั่นให้สามารถเปลี่ยนแปลงตามราคาตลาดโลกได้เล็กน้อย พร้อมกับการยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนจากการส่งออกก๊าซหุงต้ม" นายวีระพลกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ