กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.10 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 32.82 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 32.73-33.16 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 8 สัปดาห์จากกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตร เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลักในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 63 หลังข้อมูลบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯสูงสุดในรอบ 31 ปี
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนต.ค. ทะยานขึ้น 6.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานสูงขึ้น 4.6% ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ พุ่งขึ้น ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจต้องเร่งคุมเข้มนโยบาย ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 3,425 ล้านบาท และ 48,637 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะจับตาการประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับจีน เพื่อประเมินทิศทางความสัมพันธ์ด้านการค้า และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ และความเห็นจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดหลายราย รวมถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในยุโรป ซึ่งอาจนำไปสู่การควบคุมกิจกรรมด้านต่างๆ อีกครั้ง
ขณะที่สหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป (อียู) ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้เกี่ยวกับประเด็นไอร์แลนด์เหนือ ในภาวะเช่นนี้ คาดว่าค่าเงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในระยะนี้ อย่างไรก็ดี หากโมเมนตัมขาขึ้นของราคาทองคำยังไปต่อได้ จะเป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินบาท
สำหรับประเด็นในประเทศสัปดาห์นี้ สภาพัฒน์รายงานจีดีพีไตรมาส 3/64 หดตัว 0.3% เทียบปีต่อปี ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ และคาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัว 1.2% ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 3/64 และเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค และการเร่งกระจายวัคซีน ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านต่ำลดลง กนง.มองว่าค่าเงินบาทผันผวนมากขึ้น จากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ไม่แน่นอน โดย กนง.ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และคาดว่าการประชุมเดือนธ.ค. 64 จะมีการปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามต้นทุนพลังงาน
"ท่าทีของทางการ ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงต้นของการฟื้นตัว ทำให้เงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ สนับสนุนมุมมองของเราว่า กนง. จะตรึงดอกเบี้ยตลอดปี 65" บทวิเคราะห์ระบุ