แหล่งข่าวกระทรวงพลังงงาน คาดว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้ ได้มีมติอนุมัติการกู้เงินจำนวน 2 หมื่นล้านบาทสำหรับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรแล้ว จากนี้กระทรวงพลังงานจะเริ่มเจรจาและส่งเอกสารการกู้เงินกับสถานบันการเงิน คาดว่าจะได้รับเงินเข้ากองทุนฯประมาณเดือน เม.ย.-พ.ค.65 โดยระหว่างนี้กระทรวงพลังงานยังมีเงินเหลืออยู่ 4,515 ล้านบาท เชื่อว่าจะดูแลราคาดีเซลและราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้ถึงสิ้นเดือน ธ.ค.64 นี้
ปัจจุบันราคา LPG โลกยังทรงตัวระดับสูงประมาณ 800 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ซึ่งคิดเป็นเงินที่ต้องใช้ชดเชยประมาณ 17-18 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม เพื่อให้ราคาจำหน่าย LPG อยู่ที่ 318 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ตรึงราคาจำหน่ายมาตั้งแต่ มี.ค.63 ดังนั้น ปลายปี 64 นี้กระทรวงพลังงานจะต้องทบทวนมาตรการช่วยเหลือใหม่ว่าจะตรึงราคาต่อไป หรือทยอยปรับราคาขึ้นบางส่วน เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันฯ และสอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย
แต่หากราคาน้ำมันยังปรับตัวขึ้นสูงกว่านี้ ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) อาจต้องดึงเงินที่อยู่ในกรมบัญชีกลาง 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ยังไม่ถึงกำหนดการชำระหนี้ แต่เตรียมไว้สำหรับชำระหนี้โรงกลั่นน้ำมันหรือเจ้าหนี้รายอื่นๆ เพื่อนำมาหมุนเวียนก่อนจนกว่าเงินกู้จะเข้ามาในกองทุนฯ
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานเริ่มเจรจากับกรมสรรพสามิตเพื่อเตรียมพร้อมแนวทางปรับลดภาษีน้ำมันลงบางส่วน จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ 5 บาท/ลิตร โดยหากราคาน้ำมันโลกยังปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลแพงเกิน 30 บาท/ลิตร อาจต้องใช้เริ่มพิจารณาการลดภาษีน้ำมันลงบางส่วน ทั้งนี้ ต้องรอให้ระดับปลัดและรัฐมนตรีของกระทรวงพลังงานและกระทรวงคลังหารือกันอีกครั้ง
พร้อมกันนี้ กระทรวงพลังงานได้หารือกับกรมธุรกิจพลังงานและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางปรับลดสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (B100) ในน้ำมันดีเซล B7 ลง เนื่องจากขณะนี้ราคา B100 แพงมากอยู่ระดับ 47.11 บาทต่อลิตร ซึ่งเท่ากับเป็นต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลประมาณ 3-4 บาทต่อลิตร
ดังนั้น หากปรับลดสัดส่วนการผสมลงได้จะช่วยบรรเทาผลกระทบราคาดีเซลลงได้เช่นกัน และให้ผู้ประกอบการหันไปส่งออก B100 แทน เนื่องจากราคาตลาดโลกอยู่ในระดับสูง ผู้ค้าจะได้กำไรมากกว่าส่งขายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาผลดีและผลเสียที่จะเกิดกับเกษตรกรด้วยจึงยังไม่ได้ข้อสรุป