ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ในวาระแรก โดยได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 20 คนขึ้นมาพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐบาล และ สนช. รวมทั้งหมด 24 คน
โดยนายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ ได้เสนอให้มีการแปรญัตติใน 7 วัน
สำหรับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่เป็นตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาล มีทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์, นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน, นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ คณะกรรมการกฤษฎีกา และนายสมภพ อมาตยกุล รองประธานหอการค้าไทย
ส่วนตัวแทนจาก สนช. ได้แก่ นายการุณ กิตติสถาพร, ว่าที่ ร.อ.จิตต์ ศิรธรานนท์, นายประมนต์ สุธีวงศ์, นายคำนูญ สิทธิสมาน, นายวิษณุ เครืองาม, นายสมภพ มานะรังสรรค์, นายพชร ยุติธรรมดำรง และนายอัมมาร สยามวาลา เป็นต้น
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ต.ค. โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง 3 ประเภทต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจจากกระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป 2.ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่มียอดขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และ 3.ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่ซื้อสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิทธิอย่างอื่น
ตลอดจนได้ตัดคณะกรรมการควบคุมระดับจังหวัดออก โดยให้มีเพียงคณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง (กกค.) เพียงชุดเดียว เพื่อทำกำหนดนโยบาย, ออกระเบียบ, พิจารณาใบอนุญาต, การจัดทำกฎกระทรวงให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ รวมถึงให้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจ เช่น กำหนดสถานที่ตั้ง, ระยะห่างจากตัวเมือง, วันเวลาเปิด-ปิด เป็นต้น
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--