สปส.เผยโรงพยาบาลเอกชนยอมต่อสัญญากองทุนทดแทนแล้ว 67 แห่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 19, 2007 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสิทธิพล รัตนากร รองเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนหลายรายทยอยกลับเข้ามาเป็นโรงพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน โดยในขณะนี้มีผู้ยื่นความจำนงแล้วจำนวน 67 แห่ง และคาดว่าจะทยอยยื่นความจำนงเข้ามาอีกเรื่อย ๆ หลังได้คำชี้แจงจากทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แล้ว
ก่อนหน้านี้ โรงพยาบาลจำนวน 112 แห่ง ขอถอนตัวจากการเป็นโรงพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทนในปี 51 โดยให้สาเหตุว่ากองทุนฯ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำกับโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ต้องเครดิตทดลองจ่ายให้นายจ้าง ลูกจ้างไปก่อน แล้วไปเบิกกับ สปส.ทีหลัง และด้วยกฎเกณฑ์การพิจารณาของ สปส.ที่ตั้งมาอย่างซับซ้อน ทำให้โรงพยาบาลเก็บค่ารักษาได้เต็มที่
ดังนั้น นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน จะไม่ต้องเป็นกังวล หากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน สปส.มีโรงพยาบาลรัฐบาลและโรงพยาบาลที่อยู่ในความตกลงของกองทุนเงินทดแทนรองรับอย่างเพียงพอ เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลได้ทุกแห่ง
กฎหมายกองทุนเงินทดแทน กำหนดไว้ว่านายจ้างส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่สถานพยาบาลที่มีแพทย์แผนปัจจุบันชั้น 1 นั่นหมายถึงได้ตั้งแต่คลินิกที่มีแพทย์แผนปัจจุบันชั้น 1 ประจำทำงาน ทั้งโรงพยาบาลของรัฐ และเอกชน หากโรงพยาบาลนั้นมิได้เป็นโรงพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน นายจ้างต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน แล้วนำหลักฐาน ได้แก่ ใบรับรองแพทย์ และใบเสร็จรับเงินมาเบิกจ่ายจากสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ / จังหวัด / สาขา ได้ภายหลัง
ส่วนกรณีที่นายจ้างไม่ประสงค์สำรองจ่ายค่ารักษาก่อน นายจ้างสามารถส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน โดยมีแบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท.44)
ทั้งนี้นายจ้างต้องแจ้งการประสบอันตรายตามแบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย สูญเสียอวัยวะ หรือสูญหาย และคำร้องขอรับเงินทดแทน (กท. 16) ส่งให้ประกันสังคมเขตพื้นที่ / จังหวัด / สาขา ที่นายจ้างขึ้นทะเบียนไว้ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้าง พร้อมใบรับรองแพทย์และสำเนาแบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท. 44) ถ้ามี
อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าเป็นการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานหรือไม่ ให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนยื่นบัตรรับรองสิทธิรักษาพยาบาลไปก่อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ