นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคม 64 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 81,577 คัน เพิ่มขึ้น 14.30% จากเดือนตุลาคม 63 และเพิ่มขึ้น 10.49% จากเดือนกันยายน 64 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 71,410.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.82% จากเดือนตุลาคม 63 โดยส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดออสเตรเลียลดลง 23.98% และตลาดแอฟริกาลดลง 13.04%
"ดูจากตัวเลขส่งออก 10 เดือนแล้วมั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะทะลุเป้า 8.5 แสนคันได้ถึง 8.7 แสนคัน แต่ตอนนี้ยังไม่ปรับเป้า เพราะกังวลเรื่องปัญหาขาดแคลนชิป" นายสุรพงษ์ กล่าว
ขณะที่ยอดส่งออกในช่วง 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.64) มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 759,058 คัน เพิ่มขึ้น 28.04% และมีมูลค่าการส่งออก 442,421.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.47% จากช่วงเดียวกันของปี 2563
สำหรับจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนตุลาคม 64 มีทั้งสิ้น 154,038 คัน เพิ่มขึ้น 3.27% จากเดือนตุลาคม 63 และเพิ่มขึ้น 10% จากเดือนกันยายนปีนี้ จากการคลายล็อกดาวน์ของประเทศคู่ค้า ทำให้ส่งชิ้นส่วนให้ประเทศไทยได้มากขึ้น จึงผลิตเพื่อส่งออกได้ถึง 89,144 คัน คิดเป็นสัดส่วน 57.87% ของยอดผลิตทั้งหมด และมากกว่าผลิตเพื่อส่งออกเดือนตุลาคมปีที่แล้ว 28.83% ทำให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 1,365,984 คัน เพิ่มขึ้น 22.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ เดือนตุลาคม 64 มีจำนวนทั้งสิ้น 64,462 คัน ลดลง 13% จากเดือนตุลาคม 63 แต่เพิ่มขึ้น 13.35% จากเดือนกันยายน 64 จากนโยบายการเปิดประเทศและการผ่อนคลายล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายคนละครึ่ง ฯลฯ การประกันรายได้สินค้าเกษตร ทำให้ประชาชนกล้าใช้เงินมากขึ้น
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้คาดว่ายังมีอัตราการเติบโตตามเป้าที่ตั้งไว้คือ ผลิตรถยนต์ได้ 1.6 ล้านคัน แยกเป็นการส่งออก 8.5 แสนคัน และขายในประเทศ 7.5 แสนคัน และหวังว่าการจัดงานมหกรรมยานยนต์ในช่วงปลายปีจะกระตุ้นยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมาย