ส.ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เสนอใช้ GAP เป็นมาตรฐานภาคบังคับขั้นต่ำการผลิตสินค้าเกษตร

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 18, 2021 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ส.ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เสนอใช้ GAP เป็นมาตรฐานภาคบังคับขั้นต่ำการผลิตสินค้าเกษตร

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอาหารชั้นนำของโลก ประเทศไทยจำเป็นต้องกำหนดให้ GAP (Good Agricultural Practices) เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการผลิตสินค้าเกษตรซึ่งเป็นต้นทาง และพื้นฐานสำคัญในการส่งออกสินค้าเกษตรหลักหลายรายการ เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคและประเทศผู้ซื้อในต่างประเทศมีกฎระเบียบด้านสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมที่เคร่งครัดมาประกอบการตัดสินใจในการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น เช่น บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้แน่นอน

ส.ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เสนอใช้ GAP เป็นมาตรฐานภาคบังคับขั้นต่ำการผลิตสินค้าเกษตร
"สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เรียกร้องรัฐบาลไทยมาแล้วหลายครั้ง ขอให้มีมาตรฐานภาคบังคับขั้นต่ำของภาคการเกษตรไทย โดยเฉพาะ GAP เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำการเกษตรทั้งระบบ ตั้งแต่พัฒนาระบบการดูแล ควบคุม และตรวจสอบคุณภาพการเพาะปลูก การเพาะเลี้ยง การแปรรูป การผลิต การจัดจำหน่าย จนถึงผู้บริโภค ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี และปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค สอดคล้องตามมาตรฐานโลก" นายพรศิลป์ กล่าว

ปัจจุบัน GAP เป็นเพียงแนวปฏิบัติที่ทำด้วยความสมัครใจ ไม่ได้กำหนดเป็นมาตรฐานภาคบังคับขั้นต่ำ การพัฒนายังอยู่ในวงจำกัด ผลผลิตต่ำและต้นทุนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ที่สำคัญวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการต้องนำเข้าภายใต้มาตรการทางภาษี และไม่ใช่ภาษี ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบไม่มีเสถียรภาพ เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปยังอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ภาคปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ทำให้ผู้ใช้ต้องหันไปหาวัตถุดิบชนิดอื่นทดแทน เช่น ข้าวสาลี ปลายข้าว และ DDGS (Dried Distillers Grains with Solubles) หรือผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากขบวนการผลิตเอทานอลด้วยข้าวโพด

"วัตถุดิบอาหารสัตว์ คิดเป็นต้นทุนการผลิตประมาณ 60% ของการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งข้าวโพดเป็นหนึ่งในส่วนผสมสำคัญทั้งของอาหารสุกรและสัตว์ปีก ขณะที่ราคามีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตขยับตามกลไกการตลาด และมีผลต่อราคาเนื้อสัตว์โดยตรง" นายพรศิลป์ กล่าว

นายพรศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาต้นทางวัตถุดิบเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ข้าว ต้องพิจารณาและดำเนินการเร่งด่วน เพื่อสร้างพื้นฐานที่ดีการผลิตอาหารที่ดี และเสถียรภาพด้านราคาของวัตถุดิบในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของเกษตรกรในการพัฒนาผลผลิตคุณภาพดี และมีต้นทุนที่แข่งขันได้ ลดการพึ่งพาและความเสี่ยงจากการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากประเทศ และประหยัดงบประมาณแผ่นดินในโครงการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร

จากผลการศึกษานโยบายทางการค้า สำหรับวัตถุดิบทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมของประเทศไทย ของนักวิชาการ จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์ ได้ยกเรื่องมาตรฐาน GAP เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ไทยต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตในประเทศขาดแคลน ยกระดับมาตรฐานการผลิตและราคา ควบคู่กับการจัดระบบการนำเข้าวัตถุดิบ และวัตถุดิบทดแทนที่เป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ