นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายก เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 3/2564 (ผ่านระบบ Video Conference) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Government Platform for PDPA Compliance : GPPC) เพื่อเป็นกรอบทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาแพลตฟอร์มฯ ช่วยสนับสนุนการดำเนินการด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลฯ เพื่อให้บริการหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ลดภาระด้านงบประมาณในภาพรวมของภาครัฐ
รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลฯ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (1 ปี 6 เดือน) ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางฯ และส่งเสริมให้มีการใช้งานแพลตฟอร์มกลางฯ ไปยังหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 200 หน่วยงาน อบรมบุคลากร 2,000 คน และระยะที่ 2 ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานแพลตฟอร์มฯ ในภาคเอกชน และทำการติดตามประเมินผลการใช้งานแพลตฟอร์ม
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดทำ "บัญชีบริการดิจิทัล" เพื่อขึ้นทะเบียนบริการด้านดิจิทัลของ Digital Startup และผู้ประกอบการดิจิทัล (Digital Provider) ที่มีมาตรฐาน พร้อมผลักดันบัญชีบริการดิจิทัลเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ดำเนินการขับเคลื่อนบัญชีบริการดิจิทัล ในภาคเอกชนและภาคประชาชน โดยผลักดันผ่านกลไกนโยบายภาครัฐ เช่น นโยบายภาษี เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผู้ประกอบการดิจิทัลไทยในวงกว้าง
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการดำเนินการด้านดิจิทัลของประเทศ มุ่งให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้ที่สามารถพัฒนาต่อยอดจากดิจิทัลได้ตลอดเวลา เพื่อให้แข่งขันได้ในเวทีนานาชาติ ซึ่งโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน (Digital Community Center Project) ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านสังคมและจริยธรรมของเทคโนโลยีสารสนเทศ ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ในการประชุม World Summit on the Information Society Forum หรือ WSIS Forum 2021 จึงต้องเร่งพัฒนาให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียนต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลว่า เป็นประเด็นสำคัญทั้งในและนอกประเทศ จึงขอให้ติดตามประเมินแนวทางของไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดข้อจำกัดของการทำธุรกิจระหว่างประเทศ และให้เป็นไปอย่างรัดกุม
"วันนี้แพลตฟอร์มดิจิทัลกำลังครองโลก เป็นรูปแบบธุรกิจที่ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เสมือนตัวกลางระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิตในภาคส่วนต่าง ๆ จึงอยากให้ภาครัฐพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการกับประชาชนเข้าถึงการใช้บริการในราคาถูก เชื่อมโยงภาครัฐด้วยกันได้ ทั้งสุขภาพ โควิด ท่องเที่ยว โดยจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วน ภายใต้โครงการแผนงานต่าง ๆ ต้องมีความชัดเจนทั้งแผนปฏิบัติการและแผนการใช้งบประมาณด้วย" นายกรัฐมนตรีระบุ
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า วันนี้ต่างประเทศชื่นชมไทย บริษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ ทั้งขนาดใหญ่ขนาดเล็ก ที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทย และที่จะมาลงทุนในประเทศไทย และเห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับดิจิทัล การอำนวยความสะดวก ปลดล็อกกฎหมายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ผลักดันและร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศไปในอนาคตด้วย