นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยความคืบหน้าโควต้านำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 4.8 แสนตันในปี 64 ว่า กกพ. ได้สรุปปริมาณการนำเข้าโควต้า LNG ของปี 64 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติให้นำเข้า 4.8 แสนตัน เพิ่มเป็น 6 แสนตันแทน เนื่องจากเนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศปรับตัวสูงขึ้น หากไม่นำเข้า LNG เพิ่มอาจส่งผลต่อความมั่นคงไฟฟ้าประเทศไทย
โดยการนำเข้า LNG 6 แสนตันดังกล่าว แบ่งเป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเข้า 5 ลำเรือ (ลำเรือละประมาณ 6 หมื่นตัน) ช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 64 รวมเป็นปริมาณ 3 แสนตัน ราคานำเข้าประมาณ 20-25 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู เพื่อมาใช้กับโรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทน, บมจ. ปตท. (PTT) นำเข้าอีก 4 ลำเรือ รวม 2.4-3 แสนตัน ช่วงเดือน ต.ค.- พ.ย. 2564 ราคานำเข้าประมาณ 30-33 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู รองรับความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม กกพ.ได้หารือกับ ปตท.และ กฟผ.เพื่อความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ โดยช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.65 ให้ กฟผ.และปตท.จัดหาก๊าซฯมาเก็บสำรองไว้ด้วยสัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะกลางและระยะยาวแทน เนื่องจากจะได้ราคาถูกกว่าซื้อแบบตลาดจร (Spot) ในช่วงนี้ และระหว่างที่ราคาก๊าซฯ แพงให้พิจารณาเลือกใช้น้ำมันมาผลิตไฟฟ้าแทนการใช้ก๊าซฯ ไปก่อน โดยใช้เกณฑ์ราคา LNG เทียบกับราคาน้ำมัน ที่ กกพ.ได้ศึกษาไว้ หากราคา LNG เกิน 25 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ก็ให้เลือกใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้าแทน แต่หากถูกว่า 25 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ก็ให้เลือกใช้ LNG ผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งเกณฑ์ราคาดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) สามารถนำเข้า LNG มาเสนอขายให้กับ ปตท.และกฟผ.ได้
สำหรับในปี 65 เบื้องต้นมี Shipper บางรายที่สนใจจะนำเข้า LNG มาใช้เอง แต่จะเป็นลักษณะการจัดหา LNG ในสัญญาระยะยาวเป็นหลัก ซึ่งหากผู้ประกอบการที่มีสัญญาซื้อขายก๊าซฯกับ ปตท. แต่สัญญาหมดอายุและต้องการจัดหาก๊าซฯเองก็สามารถดำเนินการได้ และจะเป็นผลดีต่อประเทศ เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ก๊าซ LNG ในประเทศเพิ่มสูงขึ้นจาก 18% เป็น 30% แล้ว หากผู้ประกอบการออกไปจัดหาซื้อก๊าซฯใช้เอง จะช่วยลดการใช้ก๊าซฯในระบบของประเทศลงได้ส่วนหนึ่ง