น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับ 13 (พ.ศ.2497) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพของการประกอบธุรกิจซื้อขายแลกแปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (ธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ) ของไทย รวมทั้งให้การดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) และมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการก่อการร้าย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งในลำดับต่อไปจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรูปแบบการอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการ ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ ที่มีรูปแบบเป็นนวัตกรรม ซึ่งนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ และผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตหรือได้ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม รวมถึงเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของบุคคลที่ได้รับอนุญาต โดยให้สามารถบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในรูปแบบอื่น ที่ไม่ใช่เฉพาะธนบัตรเงินตราต่างประเทศได้ เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถชำระเงินค่าซื้อธนบัตรเงินบาท ด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่ออกโดยธนาคารในต่างประเทศได้ จากเดิมที่ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้เฉพาะธนบัตรเงินตราต่างประเทศ
2.เพิ่มประเภทการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ โดยให้สามารถประกอบธุรกิจในรูปแบบการขึ้นทะเบียน (Register) จากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ จากเดิมที่มีเฉพาะรูปแบบการให้ใบอนุญาต (License) จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น
3.ขยายขอบเขตของการให้ใบอนุญาตและใบขึ้นทะเบียน โดยให้ใบอนุญาตที่ได้รับ สามารถใช้ได้กับทั้งสานักงานใหญ่ สาขา และช่องทางการให้บริการอื่น (One-to-Many) ได้ จากเดิมที่ใบอนุญาตสามารถใช้ได้กับสถานประกอบการที่ยื่นขออนุญาต (One-to-One) เท่านั้น หากมีหลายสาขาต้องขอใบอนุญาตทุกสาขา
4.ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับรายได้สกุลเงินตราต่างประเทศที่ได้รับมาจากต่างประเทศ ทั้งรายได้ที่เป็นค่าของส่งออก และรายได้ประเภทอื่น โดยสามารถนำรายได้จากสกุลเงินตราต่างประเทศไปใช้ในการทำธุรกรรมประเภทอื่นได้ เช่น การชำระหนี้การค้า หรือนำรายได้สกุลเงินตราต่างประเทศไปขาย จากเดิมที่อนุญาตเพียงการขายหรือฝากเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ 5.ปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต โดยกำหนดให้ผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น จากเดิมเป็นบุคคลธรรมดาได้ สำหรับบุคคลธรรมดาจะสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้อีก 3 ปี นับแต่วันที่ร่างกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ โดยกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล
6.เพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ผู้ซึ่งมีอำนาจในการจัดการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยผู้ประกอบธุรกิจหรือกรรมการต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุก ซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในความผิดเกี่ยวกับการประกอบปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับการขึ้นทะเบียน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการก่อการร้าย