ครม.เห็นชอบกำหนดท่าทีไทยในเวทีประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 รอบเจนีวา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 23, 2021 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบท่าทีไทยในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญครั้งที่ 12 (the Twelfth Ministerial Conference: MC12) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการประชุมระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-3 ธ.ค.2564 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ถือเป็นกลไกการดำเนินงานระดับสูงสุดขององค์การการค้าโลก ทำหน้าที่ตัดสินใจในนโยบายและกิจกรรมสำคัญขององค์การการค้าโลก โดยจะจัดประชุมทุก 2 ปี สำหรับท่าทีประเทศไทยประกอบด้วย 10 ด้าน ดังนี้

1.ภาพรวม ไทยจะรักษาไว้ซึ่งระบบการค้าพหุภาคี ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment: S&DT) สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีการค้าบริการอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงสนับสนุนความร่วมมือเพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

2.ความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง ท่าทีไทย คือ 1) ห้ามให้การอุดหนุนการทำประมง IUU Fishing 2) ให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาว่าประเทศสมาชิกสามารถให้การอุดหนุนแก่ภาคประมงได้ต่อไป 3) ให้มีการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (S&DT) แก่ประเทศกำลังพัฒนา (รวมถึงไทย) เพื่อให้ความตกลงมีความยืดหยุ่นแก่ประเทศกำลังพัฒนาในประเด็นต่างๆ เช่น การไม่บังคับใช้หรือให้มีข้อยกเว้นความตกลงในบางกรณี โดยเฉพาะการอุดหนุนประมงพื้นบ้านของไทย

3.ความตกลงเกษตร ท่าทีไทย คือ 1) สนับสนุนการเปิดตลาดสินค้าเกษตร 2) การลดการอุดหนุนภายในที่บิดเบือนตลาด 3) การเพิ่มความโปร่งใสและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการใช้มาตรการต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงอัตราภาษี การอุดหนุนการส่งออก 4) สนับสนุนไม่ให้ใช้มาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับโครงการอาหารโลก เพื่อวัตถุประสงค์ด้านมนุษยธรรมที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ส่วนท่าทีไทยสำหรับการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเครนส์ ไทยเห็นชอบในหลักการแถลงการณ์ประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเครนส์ ครั้งที่ 42 ซึ่งมีสาระสำคัญ เป็นการผลักดันการเจรจาจัดทำกฎระเบียบระหว่างประเทศในเรื่องการค้าสินค้าเกษตรภายใต้ WTO อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการค้าสินค้าเกษตรที่เป็นธรรม โดยเฉพาะการลดการอุดหนุน การลดอุปสรรคทางการค้า และการบิดเบือนตลาด

4.แผนการดำเนินการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ไทยจะสานต่อแผนการดำเนินการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และสนับสนุนการต่ออายุการยกเว้นภาษีศุลกากร สำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการชั่วคราว

5.การต่ออายุการยกเว้นการฟ้องร้อง กรณีได้รับความเสียหายหรือเสียประโยชน์อันพึงได้รับจากพันธกรณี แม้ไม่ได้มีการละเมิดความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS) ไทยสนับสนุนการต่ออายุการยกเว้นการฟ้องร้องดังกล่าว และให้คณะมนตรี TRIPS พิจารณาหารือในเรื่องขอบเขตและรูปแบบของการฟ้องร้องด้วย

6.แนวทางการเสริมสร้างบทบาทขององค์การการค้าโลก (WTO) ในการรับมือกับโรคโควิด-19 ไทยสนับสนุนบทบาทของ WTO และสนับสนุนการจัดทำแผนการดำเนินงานต่างๆ อาทิ การลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาหรือยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถของประเทศในการผลิต และกระจายสินค้าจำเป็นทางการแพทย์เพื่อการเข้าถึง

7.การค้ากับสิ่งแวดล้อม ไทยสนับสนุนร่างถ้อยแถลงรัฐมนตรีเรื่องมลภาวะจากขยะพลาสติกและการค้าพลาสติกที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม

8.การค้ากับการพัฒนา ไทยสนับสนุนให้ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการค้าพหุภาคี

9.การปฏิรูปองค์การการค้าโลก ท่าทีไทย คือ 1) เร่งรัดแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ 2) สนับสนุนการหาข้อสรุปการปฏิรูป WTO ในประเด็นต่างๆ เช่น การเจรจากฎเกณฑ์ทางการค้า การกำกับดูแลทางการค้าและความโปร่งใส และการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนา (S&DT)

10.การประชุมภายใต้กรอบการหารือหลายฝ่าย ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนในประเด็นต่างๆ ได้แก่ 1) การจัดทำกฎเกณฑ์ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 2) การจัดทำวินัยเพื่อกากับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศด้านการค้าบริการ 3) การจัดทาความตกลงว่าด้วยการอานวยความสะดวกทางการลงทุน 4) วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และ 5) การค้ากับเพศสภาวะ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ