นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์การใช้พลังงานขั้นต้นปี 2564 จะเพิ่มเพียง 0.2% หลังจากที่ในช่วง 9 เดือนปีนี้ พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 0.01% จากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน/ลิกไนต์ ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้าเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจในช่วงต้นปี ขณะที่การใช้น้ำมันลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งภาครัฐมีการประกาศใช้มาตรการต่างๆ อาทิ การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) การจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด และการประกาศเคอร์ฟิว เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงช่วง 9 เดือน การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ลดลง 8.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดระลอก 3 ในเดือนเมษายน 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนกันยายน โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลง 6.5% การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล ลดลง 9.2% และการใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลง 44.9% ขณะที่การใช้น้ำมันเตา เพิ่มขึ้น 13.7% โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ในภาคขนส่ง
การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน เพิ่มขึ้น 8.1% โดยการใช้เพิ่มขึ้นจากฐานการใช้ที่ต่ำมากกว่าปกติในปี 63 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีการใช้เพิ่มขึ้น 24.3% สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม มีการใช้เพิ่มขึ้น 11.9% ตามการขยายตัวของการส่งออก และภาคครัวเรือน มีการใช้เพิ่มขึ้น 1.4% ขณะที่ภาคขนส่ง มีการใช้ลดลง 16.9% จากข้อจำกัดในการเดินทางในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการใช้เอง มีการใช้ลดลง 36.8%
การใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 1.1% โดยการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจยกเว้นการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ทั้งนี้การใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 0.2% ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัว การใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 7.7% และ 1.6% ตามลำดับ ตามการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลง 19.7% จากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นข้อจำกัดทำให้การใช้ NGV ในการเดินทางลดลง
ด้านการใช้ไฟฟ้า ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้า (System Peak) ของปี 64 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 เวลา 14.49 น. อยู่ที่ระดับ 31,023 MW เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการใช้ไฟฟ้าในช่วง 9 เดือนปี 64 อยู่ที่ 143,663 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 1.0% ซึ่งการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 45% อยู่ในสาขาอุตสาหกรรม การใช้เพิ่มขึ้น 5.5% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกขยายตัวได้ดี ส่วนการใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น 0.7% จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ยังคงมีมาตรการ Work From Home และการจำกัดการเดินทาง ขณะที่การใช้ไฟฟ้าในสาขาธุรกิจลดลง 7.0% จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 63 โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน อาทิ ธุรกิจโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และภัตตาคาร เป็นต้น
ขณะที่ปี 64 คาดว่า การใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์ คาดว่ามีการใช้เพิ่มขึ้น 2.7% และ 8.1% ตามลำดับ ส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าเพิ่มขึ้น 15.4% ขณะที่การใช้น้ำมัน คาดว่าลดลง 7.8% อันเป็นผลจากการยกระดับมาตรการล็อกดาวน์และการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในเดือนกรกฎาคม 2564
การใช้ LPG ในภาคครัวเรือน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% ภาคอุตสาหกรรมและการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10.9% และ 24.2% ตามลำดับ ขณะที่ภาคขนส่งคาดว่ามีการใช้ลดลง 18.7% ส่วนก๊าซธรรมชาติ คาดว่าการใช้จะเพิ่มขึ้น 1.6% และการใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 จากการฟื้นตัวของการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ สนพ. ได้มีการพยากรณ์โดยอ้างอิงสมมุติฐานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัว 1.2% เนื่องจาก
(1) การขยายตัวจากการส่งออกสินค้า
(2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่าย การลงทุน และมาตรการเศรษฐกิจสำคัญของภาครัฐ
(3) ฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติของปี 2563 สำหรับราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2564 อยู่ที่ 70.0 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในปี 2564 อยู่ที่ 31.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนั้นเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2564 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เผยแพร่คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 ขยายตัว 5.9%
อย่างไรก็ตาม สนพ. ยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด อาทิ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มาตรการป้องกันโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง