ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 64 ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง พร้อมเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 โดยเศรษฐกิจไทยปี 2564 และปี 2565 จะขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน จากการใช้จ่ายในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากราคาพลังงานโลกที่สูงขึ้น รวมถึงการเร่งกระจายวัคซีนที่ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านต่ำลดลง แต่แนวโน้มการฟื้นตัวยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอน โดยในระยะต่อไป แรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐจะแผ่วลง หลังจากที่ได้เร่งไปในช่วงก่อนหน้า ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงบ้างตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
"กนง. เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับการดำเนินมาตรการด้านการเงินการคลังที่มีความต่อเนื่อง เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง" รายงาน กนง.ระบุ
โดยประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ อภิปรายกัน ได้แก่ 1.อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้นชั่วคราวตามราคาพลังงานโลก แต่ยังมีความเสี่ยงที่ราคาพลังงานโลกอาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้ จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
2.โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจ คือ การดูแลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุดลง เนื่องจากเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย เช่น 1) การระบาดระลอกใหม่หลังการเปิดประเทศ 2) ความต่อเนื่องของมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และ (3) การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานโลก
3. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ (uneven recovery) ส่งผลให้ตลาดแรงงานที่แม้จะเริ่มปรับดีขึ้นบ้าง ยังคงมีความเปราะบาง ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ และตลาดแรงงานควรตรงจุดมากขึ้น และเน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
4. ที่ผ่านมา มาตรการการคลังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ทั้งการเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ แม้แรงส่งจะลดลงบ้างหลังมาตรการการคลังทยอยสิ้นสุดลง แต่แรงส่งภาคการคลังยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ต่อ GDP ทำให้ภาครัฐสามารถออกมาตรการเพิ่มเติมได้ในกรณีจำเป็น และในระยะต่อไป มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด ปรับสมดุลระหว่างการเยียวยาและฟื้นฟู โดยเน้นมาตรการฟื้นฟูและสร้างรายได้ รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว
5. นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง และต้นทุนการกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 กันยายน 2564 ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว
6. ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นตามปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและการเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาด ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้าควรติดตามความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะทิศทางการดำเนินนโยบาย การเงินที่แตกต่างกัน (policy divergence) ซึ่งอาจกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย นอกจากนี้ เห็นควรให้ผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐ และการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะหลังการเปิดประเทศ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเน้นการสร้างรายได้ และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด และลดภาระหนี้ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างยั่งยืน
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
"กนง. จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของการระบาดหลังการเปิดประเทศ ความเพียงพอของมาตรการการคลัง และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานโลก โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น" รายงาน กนง.ระบุ