นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ราคาหมูในปัจจุบันมีราคากลางของหมูเนื้อแดง เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 140-160 บาท ส่วนในโมเดิร์นเทรด (ห้างค้าปลีก) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 130 บาท ดังนั้น เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนที่บริโภคหมูทั่วทั้งประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้จัดโครงการพาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชนเป็น Lot 14 โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เครือเจริญโภคภัณฑ์, บมจ.ไทยฟู๊ดส์ กรุ๊ป (TFG) และเครือเบทาโกร เป็นต้น
โครงการดังกล่าว จะจัดให้มีจุดจำหน่ายเนื้อหมู ราคากิโลกรัมละ 130 บาท ซึ่งสำหรับหมูเนื้อแดงถือเป็นราคาขายส่งที่ถูกกว่าราคาขายปลีกในท้องตลาดทั่วไปประมาณ 20% โดยจัดให้มีจุดจำหน่ายทั่วทั้งประเทศ 667 จุด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล 116 จุด และต่างจังหวัด 551 จุด
สำหรับกรุงเทพมหานคร นอกจากจุดที่จำหน่ายตามที่ต่างๆ แล้ว อีกส่วนจะมีรถโมบายที่นอกจากขายหมูเนื้อแดง จะมีผักสดในราคาขายส่งอีก 17 ชนิด เช่น ผักชี กิโลกรัมละ 70 บาท, ข้าวหอมมะลิบรรจุถุงขนาด 5 กิโลกรัม ถุงละ 120 บาท, น้ำมันปาล์ม ขวดละ 48 บาท, ไข่ไก่แผงละ 30 ฟอง ราคา 80 บาท และน้ำตาลทรายขาว กิโลกรัมละ 18 บาท เป็นต้น
"โครงการนี้จะเริ่มตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธ.ค. 64 และจะติดตามสถานการณ์ต่อไป ถ้าสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ จะยุติการจำหน่าย เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ต้องการเห็นกลไกตลาดเดินหน้าตามปกติ ไม่เข้าไปแทรกแซงโดยไม่จำเป็น นอกจากช่วงที่เกิดภาระกับพี่น้องประชาชน จะเข้าไปช่วยเพื่อดึงราคาลงให้มีทางเลือกหาซื้อสินค้าราคาถูกได้ เช่นเดียวกับหมูเนื้อแดงและผักก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดค่าครองชีพได้ 70-100 ล้านบาท" นายจุรินทร์ กล่าว
สำหรับประชาชนที่สนใจโครงการ สามารถตรวจสอบสถานที่จอดรถโมบาย และจุดจำหน่ายหมูราคาถูก ในเว็บไซต์กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ หรือที่ LINE OFFICIAL @Mobilepanich
ด้านนายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาเนื้อสุกรขายปลีกที่ปรับขึ้นว่า เป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคภายในประเทศ และนักท่องเที่ยวที่ทยอยเข้ามาหลังจากไทยเปิดประเทศเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สวนทางกับปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดที่ลดลงกว่า 30% จากผลกระทบของโรค PRRS ในสุกร ทำให้สุกรแม่พันธุ์และสุกรขุนเสียหายภาวะโรค และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงชะลอการเข้าเลี้ยงสุกรเพื่อรอดูสถานการณ์ หลังจากต้องแบกรับภาระขาดทุนมานานกว่า 3 ปี จากกลไกตลาดที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี ภาครัฐได้มีนโยบายในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ด้วยการจัดโครงการ "พาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน" จำหน่ายหมูเนื้อแดงกิโลกรัมละไม่เกิน 130 บาท ที่คาดว่าจะเปิด 600 จุดทั่วประเทศ โดยขณะนี้เริ่มจำหน่ายแล้วที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น ยะลา และราชบุรี เป็นต้น และจะดำเนินการครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป รวมถึงโครงการอาหารจานด่วนที่เปิดให้ร้านค้าทั่วไปในตลาดสด และร้านอาหารธงฟ้าจำหน่ายอาหารราคาจานละ 30-35 บาท และในห้างจานละไม่เกิน 35-40 บาท เพื่อช่วยค่าครองชีพผู้บริโภค
"การยื่นมือเข้ามาช่วยดูแลปัญหาอย่างเร่งด่วน ด้วยนโยบายที่มุ่งช่วยเหลือทั้งผู้บริโภค และพี่น้องเกษตรกรกรไปพร้อมๆ กัน รมว.พาณิชย์ สะท้อนการมองสถานการณ์อย่างรอบด้าน และแก้ไขอย่างตรงจุด ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ทำธุรกิจค้าขายยังคงเดินหน้าอาชีพของตนเองต่อไป ผู้ค้าอาหารต่างๆ ยังคงค้าขายอาหารการกินได้ตามปกติ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะราคา พี่น้องประชาชนมีทางเลือกในการบริโภค มีช่องทางการซื้อหาวัตถุดิบอาหารในราคาที่จับต้องได้ ขอขอบคุณการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชน และอาชีพของเกษตรกรที่เข้าใจและเข้าถึงหัวใจของปัญหา และปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงาน ซึ่งจะทำให้ราคาหมูปรับเข้าสู่สมดุลได้เอง" นายสิทธิพันธ์ กล่าว
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวอีกว่า ผลเสียหายในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา จากราคาสุกรขุนต่ำกว่าต้นทุนทั้งประเทศมีมูลค่ารวม 8,000-10,000 ล้านบาท โดยมีราคาขายต่ำสุดที่ 56 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ปัจจุบันคาดว่าประเทศไทยจะมีการผลิตหมูขุนจำนวน 15 ล้านตัวต่อปี จากเดิมที่มีการผลิตอยู่ที่ 19-20 ล้านตัวต่อปี หรือลดลง 20-25% โดยคาดว่าอย่างช้าอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปี ในการเพิ่มปริมาณสุกรพันธุ์เข้าเลี้ยงใหม่ เพื่อให้มีปริมาณเนื้อสุกรสมดุลกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ราคาสุกรในปัจจุบันจะขยับตัวได้บ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถก้าวผ่านต้นทุนที่ต้องแบกรับในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นภาระหนี้สินภาคเกษตรที่ส่งผลต่อหนี้สินภาคครัวเรือน จึงต้องขอความเห็นใจ และความเข้าใจจากผู้บริโภคด้วย