ที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรัฐบาล ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจช็อคและล้ม โดยมาตรการการเงินและมาตรการการคลังช่วงที่ผ่านมา จะเป็นการผสมผสานเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้จาก ธปท.ได้ดำเนินการแก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง
"การช่วยเหลือลูกค้าอาจจะเหมือนการเลี้ยงไข้ ที่มีการพยายามประคองการรักษา เพื่อไม่ให้คนไข้มีผลกระทบและได้รับการบอบช้ำเกินที่จะทำให้การฟื้นตัวเป็นไปได้ยากมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญของการประคองระบบเศรษฐกิจ ถ้าดูในระบบสถาบันการเงิน เราเป็นตัวกลางของการเรียกว่าโยกย้ายถ่ายเทการจัดสรรทรัพยากรเงินทุน จากคนที่มีเงินทุนไปสู่คนที่ต้องใช้เงินทุน ดังนั้นเป็นกลไกสำคัญที่ต้องให้คนที่นำเงินทุนไปใช้ สามารถที่จะประคองอยู่รอด และมีกำลังที่จะใช้หนี้ได้ในระยะยาว ก็คงไม่ใช่ในระยะอันใกล้" นายผยง กล่าว
ส่วนภาระหนี้กว่า 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นจุดเปราะบางสำคัญ อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ออกมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 66 ทำให้ในช่วง 2 ปีจากนี้ จะมีเครื่องมือที่เข้ามาช่วยประคองแบบผลักดันให้เกิดการฟื้นตัว แต่จะเริ่มทยอยลดนโยบายลงแบบ Soft Landing เพื่อไม่ให้เกิดการกระตุก การช็อคของระบบ และกระทบกับเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน
นายผยง ยังกล่าวถึงการก้าวสู่การเงินดิจิทัลว่า เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก และยอมรับว่าเป็นโลกที่มีการ Disruption สามารถมีได้ทั้งวิกฤติและโอกาสไปพร้อมกัน โดยระบบสถาบันการเงินต่างๆ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ที่มีฐานลูกค้า มีความสามารถในการเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน จะต้องมีพันธกิจที่ต้องเดินต่อไปในการพัฒนาภาคการเงินการธนาคารในไทย และทำให้ทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมก้าวผ่านช่วงนี้ และฟื้นฟูไปให้ได้ ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ แม้จะมีวิธีคิดที่แตกต่างที่ใช้เทคโนโลยีมาเสริมความสามารถ ทำให้ความท้าทายของคนรุ่นใหม่ จะเป็นความต่างจากความท้าทายของระบบการเงิน
ในปัจจุบันจะเห็นว่าสถาบันการเงินต่างๆ เริ่มหาพันธมิตรที่เข้ามาร่วมดำเนินธุรกิจ การหาพันธมิตรเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการที่สถาบันการเงินรายใดรายหนึ่งจะฝังตัวไปเป็นกิจกรรมหลักของคนไทยหรือของลูกค้า จำเป็นที่จะต้องเป็นมากกว่าธนาคาร ซึ่งเป็นความคิดของทุกสถาบันการเงิน กิจกรรมทางการเงินถือเป็นเรื่องรอง สิ่งที่สำคัญคือการสร้างสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้านอกเหนือจากการให้บริการทางการเงิน ซึ่งเป็นจุดที่ธนาคารไม่สามารถทำธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นธุรกิจกิจกรรมหลักของลูกค้าได้ เพราะไม่มีความชำนาญ ทำให้เป็นปัจจัยที่ธนาคารต่างๆ ต้องหาพันธมิตรและเติมเต็มให้กับลูกค้าให้ครบตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
"การหาพันธมิตรเป็นความท้าทายของทุกธุรกิจ ที่จะต้องพยายามหาคนที่เข้ามาเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจ ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยพันธมิตรที่กรุงไทยได้เดินร่วมกันมาต่อเนื่อง คือ ภาครัฐ ขณะเดียวกันก็มีพันธมิตรภาคเอกชน เช่น ที่เข้ามาเติมเต็มในด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับลูกค้าของกรุงไทย และก็ต่อยอดเรื่อยๆ ซึ่งจะอยู่ในแผนยุทธศาสตร์คู่ขนานของกรุงไทย" นายผยง กล่าว