นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานประชุมติดตามความก้าวหน้า โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land Bridge) ว่า จากผลการศึกษามีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณสินค้าเข้ามาใน Landbridge มากถึงกว่า 20 ล้าน TEUs ซึ่งจะเทียบเท่ากับท่าเรือฮ่องกงที่มีตู้สินค้าผ่านท่าเรือมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก และได้เน้นย้ำให้มีการออกแบบการเชื่อมต่อการขนส่งเพื่อลดระยะเวลาและลดต้นทุนในการขนส่งให้น้อยลงเมื่อเทียบกับท่าเรืออื่นในอาเซียน ถือเป็นความท้าทายในการออกแบบของ Landbridge ที่จะดึงดูดให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกหันมาใช้เส้นทาง Landbridge เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก
ทั้งนี้ได้มีนโยบายหลักในการพัฒนาเชิงธุรกิจต่อยอดในอนาคต ไม่ใช่เฉพาะการเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาในการที่จะเป็นผู้ลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะทำให้โครงการมีความน่าสนใจสามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุน และที่สำคัญจะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของโครงการฯ และการปรับปรุงข้อกฎหมาย และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ประกอบด้วย
นอกจากนี้การพัฒนาท่าเรือจะมีการพิจารณาการนำระบบเทคโนโลยี Automated Container Terminal มาช่วยในการบริหารจัดการท่าเรืออัจฉริยะ เพื่อรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่จะเกิดจากกิจกรรมภายในท่าเรือ และทำให้การขนส่งระหว่างท่าเรือทั้งสองฝั่งเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ลดปัญหาการเสียเวลาที่เกิดจากการบริหารจัดการด้วยคน รวมไปถึงให้มีการศึกษากฎหมายและสิทธิประโยชน์ของนักลงทุนในต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับกฎหมายและบริบทของประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนใน Landbridge เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ได้ให้พิจารณาถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการให้คลอบคลุมทุกกลุ่มต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการฯ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนในแต่ละเรื่องของโครงการฯ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้ เมื่อมีข้อสงสัยหรือข้อร้องเรียนให้มีการชี้แจงประเด็นข้อสงสัยของประชาชนอย่างทันท่วงที เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องกับโครงการ