นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจสถานภาพธุรกิจ SME ไทย ของสถาบันยุทธศาสตร์การค้า ระบุผู้ประกอบการส่วนใหญ่เชื่อมีความเสี่ยงสูงที่จะปิดกิจการลงหลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องรุนแรง และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่มีอยู่ โดยวงเงินสินเชื่อเสริมสภาพคล่องที่ต้องการเฉลี่ยอยู่ที่ 654,924 บาท และคาดว่าธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติภายในไตรมาสที่ 4/65
"เรื่องสภาพคล่องเป็นปัญหาใหญ่และรุนแรง สถานการณ์ยังมีความเปราะบางมาก หากมีการระบาดระลอกใหม่จนจำเป็นต้องล็อกดาวน์อีกจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะปิดกิจการมากขึ้น" นางเสาวณีย์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการระบุว่าสถานการณ์ในขณะนี้มียอดขายลดลง ต้นทุนเพิ่มขึ้น กำไรลดลง ยอดคำสั่งซื้อลดลง โดยต้องการให้ภาครัฐเร่งช่วยเหลือในเรื่องสินเชื่อโดยไม่เน้นการค้ำประกัน, การลดหย่อนภาษีนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนเพื่อลดต้นทุน, การกระตุ้นการท่องเที่ยว, การฉีดวัคซีนและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ภาครัฐควรเข้ามาดูแลปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SME เป็นเรื่องเร่งด่วน คาดว่าจะใช้เม็ดเงินราว 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจัดเตรียมงบประมาณในส่วนนี้ไว้แล้ว แต่ผู้ประกอบการ SME ไม่สามารถเข้าถึงได้
หากเกิดผลกระทบจนส่งผลให้ผู้ประกอบการ SME ที่มีอยู่ในปัจจุบันต้องปิดกิจการลงราว 5% จะส่งผลให้รายได้ของประเทศสูญหายไปราว 3 แสนล้านบาท และมีคนตกงานเพิ่มอีก 1-2 ล้านคน
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเชื่อว่าภาครัฐจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่อยากเสนอแนะให้กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงข้อมูลบางอย่างให้ประชาชนรู้เพื่อสร้างความมั่นใจ เช่น ผู้ติดเชื้อในขณะนี้มีอาการรุนแรงหรือไม่, มีมาตรการป้องกันสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในต่างประเทศหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศมากขึ้นจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ