นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวในงานสัมมนา "Battle Strategy แผนฝ่าวิกฤติ พิชิตสงคราม EPISODE III :New World, New Value ปฏิวัติการลงทุนสู่โลกใหม่"ว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบแต่ละภาคส่วนที่ไม่เท่าเทียมกัน ทั้งธุรกิจขนาดเล็กขนาดใหญ่ ธุรกิจที่เติบโตก้าวกระโดดไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และ ธุรกิจดั้งเดิม ผู้คนในโลกยากจนลง แต่คนส่วนน้อยที่มีทรัพยสินคริปโตเคอเรนซี่เติบโตสูงขึ้นมาก
ดังนั้น จึงมีคำถามการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการเติบโต หรือนวัตกรรมการเงินด้วยเทคโนโลยี แต่ก็ยังขาดการสร้างมูลค่าเพิ่มที่สร้างประโยชน์กับเศรษฐกิจ สังคม เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของคนแต่ละกลุ่ม รวมถึงเข้าไปช่วยเหลือ เสริมสร้างความสามารถแข่งขันของธุรกิจรายย่อย รวมไปถึงการใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม
การเกิดสถานการณ์โควิด-19 เปิดเผยให้เห็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้น กรอบที่คำนึงสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) จึงได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจและการขับเคลื่อนประเทศ
นายผยง กล่าวว่า ภาคการเงินก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนทิศทางให้สอดคล้องกับ ESG การเปลี่ยนผ่านสู่ Green Economy การปล่อยคาร์บอนต่ำ หลายประเทศเริ่มตื่นตัวและหยิบยกเป็น Agenda สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมให้กับภาคธุรกิจ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวให้กับธุรกิจรายย่อย เพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสเติบโต
จากความสำคัญของประเด็น ESG ทำให้การพัฒนาทางการเงิน หรือ FINTECH ที่จะช่วยเร่งความก้าวหน้าของประเทศให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่าง FINTECH ที่ได้เข้ามาช่วยในวงกว้างและพลิกโฉมโลกการเงิน โดยคลื่นลูกแรกที่เปลี่ยนไปในไทย คือระบบพร้อมเพย์ และมาตรฐาน QR Code ซึ่งทำให้การโอนเงิน-การรับเงินทำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และมีต้นทุนที่ต่ำ
ขณะที่บริการโมบายแบงก์กิ้งในช่วงปี 63 ที่เกิดการระบาดโควิด-19 ยอดใช้บริการพุ่งขึ้นมากถึง 81% ขณะที่ช่วง 7 เดือนแรกของปี 64 ก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึง 68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
คลื่นลูกต่อไป อาจจะเป็น Smart Financial and Payment Infrastructure ที่จะลดต้นทุนและแก้ pain point ให้กับธุรกิจรายย่อย ส่วนในอนาคตอาจจะเป็นมิติใหม่ของการเงินในรูปแบบ DeFi หรือ Decentralize Finance ที่เป็นการเงินที่ไร้ตัวกลาง การใช้เงินดิจิทัล รวมถึงการทำธุรกรรมอยุ่บน Smart Contract
นายพยง กล่าวว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้ FINTECH ที่เข้ามามีบทบาทเด่นชัดมากขึ้นในโลกการเงิน ทั้งในมุมตอบรับจากผู้บริโภค ซึ่งสะท้อนจากผลสำรวจประชากรสหรัฐกว่า 42% ใช้บริการด้าน FINTECH ในช่วงการระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และกลุ่มมิลเลนเนียม ซึ่งมีบัญชี FINTECH โดยรวมมากที่สุด สอดคล้องกับผลสำรวจที่ระบุว่าธุรกรรมการเงินทั่วโลกรูปแบบใหม่มากขึ้น และมีการลงทุน FINTECH ในช่วงครึ่งแรกในปี 64 ถึง 9 .8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2 พันดีล
โจทย์ที่สำคัญคือเราจะใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีทางการเงิน และ FINTECH Company ซึ่งฝังตัวอยู่ในทุกวงการ ในการสร้างคุณค่าให้กับโลกทั้งในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง ซึ่งมองว่า FINTECH จะมีความเชื่อมโยงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย บนพื้นฐานความยั่งยืนใน 4 มิติ ได้แก่
1) การลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งก่อนเกิดโควิด-19 ก็ได้เผชิญปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤติกระทบกับสถานะทางการเงิน ทำให้ธุรกิจย่ำแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากสินเชื่อเอสเอ็มอีที่เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้มากกว่า 8 แสนล้านบาท (ณ 31 ส.ค.64) ซ้ำเติมความสามารถการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำการแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้รวดเร็ว
นอกจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงการแก้ไขหนี้นอกระบบที่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ Financial Technology และ Innovation สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ ได้แก่ธุรกิจกู้เงินผ่าน Platform ในรูปแบบ Pier To Pier Lending ที่เกิดขึ้นแล้วกับสิงคโปร์
ขณะที่ Pier To Pier Lending ในประเทศไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าไม่เกินต้นปี 65 จะเริ่มมีการอนุญาตให้กับผู้ให้บริการนี้ จากปัจจุบันอยู่ขั้นตอนทดสอบ นอกจากนี้การกู้ยืมเงินโดยอาศัย Alternative Data หรือข้อมูลเดิมเช่นข้อมูลชำระค่าสาธารณูปโภค การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ประเมินความสามารถการชำระ ทั้งนี้ มีร้านค้าที่มีข้อมูลดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นข้อมูลการรับเงินผ่าน QR Code หรือร้านค้าที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งที่มียอดลงทะเบียนกว่า 1.5 ล้านราย
2) การสร้างโอกาสในการออมและการลงทุน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาการออมไม่เพียงพอ การมีภาระหนี้สูง ซึ่งผลสำรวจพบว่า 5.8 ล้านครัวเรือน หรือ 27% ของครัวเรือนทั้งประเทศไม่มีเงินออม นอกจากนี้ เกือบ 39% มีพฤติกรรมใช้ก่อนออม 38.5% มีการออมไม่แน่นอน มีเพียง 22% ที่มีพฤิตกรรมการออมก่อนใช้
อีกทั้งมีข้อมูลว่าผู้สูงอายุเกือบ 35% ยังต้องพึ่งพารายได้จากบุตรหลาน 31% ยังต้องทำงานเพื่อเลี้ยงตนเอง มีเพียง 2.3% ที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้จากเงินออม สะท้อนให้เห็นคนไทยจะเกษียณทุกข์จากการเงินออมใช้จ่ายไม่เพียงพอ
แต่ Financial Technology จะเข้ามาช่วยการออมที่มีต้นทุนต่ำและวางแผนการออมให้สอดคล้องกับรูปแบบชีวิต โดย KTB ได้พัฒนานวัตกรรมการออมมาต่อเนื่องเพื่อไม่ให้การออมไม่ถูกจำกัดรายได้ ได้ออกแบบการออมผ่านพันธบัตรขั้นต่ำ 100 บาทได้ ผ่าน e-wallet ต่อยอดจากแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง และยังเปิดให้ลงทุนหุ้นกู้ดิจิทัลผ่าน e-wallet ขั้นต่ำ 1,000 บาท และการลงทุนทองคำออนไลน์ผ่านแอพเป๋าตัง ในอนาคตก็อาจจะมีการออมผ่านโทเคนฯ ด้วย
3) การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายของประเทศไทย โดย Financial Technology และ FINTECH Start up สามารถช่วยติดอาวุธให้กับธุรกิจ ช่วยให้ธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
สำหรับในประเทศไทย เรากำลังยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการเงินดิจิทัลของประเทศ โดยสมาคมธนาคารไทย มีแผนงานที่นำเทคโนโลยีมาช่วย เพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจของภาคเอกชน ลดความซ้ำซ้อนและเชื่อมโยงข้อมูล จะช่วยลดต้นทุน ลดความเสี่ยงของธนาคารและภาคธุรกิจ เช่นคืนเงินภาษีรายได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้กรมสรรพากรมีข้อมูลแม่นยำและคืนภาษีได้เร็วขึ้น
นอกจากนั้น สมาคมธนาคารไทยมุ่งส่งเสริมระบบการยืนยันตัวตนด้วยระบบดิจิทัลที่เปิดกว้างมากขึ้น เช่นระบบ Digital ID หรือ E-singnature รวมถึงการสนับสนุนการแข่งขันเท่าเทียมกันทั้งกลุ่มของกลุ่มธนาคารและกลุ่มที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) อีกทั้งให้ความสำคัญบริหารความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคล
4) การดำเนินนโยบายรัฐที่ตรงจุดและโปร่งใส ภาครัฐถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะในวิกฤติการระบาดโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจซบเซา และงบประมาณของภาครัฐได้เป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นประสิทธิผลในการดำเนินการของรัฐที่ตรงจุดและมีความโปร่งใสที่ตรวจสอบได้จึงเป็นประเด็นสำคัญ ที่เทคโนโลยีการเงินสามารถเข้ามาช่วยได้ รวมถึงช่วยลดคอร์รัปชั่นได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีทำชำระแบบไร้เงินสด นอกจากนี้ FINTECH มาช่วยอำนวยการจัดเก็บภาษีสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น ที่นำ Clound Computing มาช่วยจัดเก็บ
สำหรับในไทย มีการใช้แอปฯ เป๋าตัง ที่มีผู้ลงทะเบียนกว่า 33 ล้านคนเพื่อรับความช่วยเหลือหรือใช้บริการต่างๆ จากภาครัฐ เช่นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละครึ่ง เราชนะ เราเที่ยวด้วยกัน ชิมช้อปใช้ ถือเป็นนวัตกรรมดิจิทัลสร้างเศรษฐกิจสู่ชุมชน สามารถกระจายได้ทั่วถึงและทันเวลา รวมเม็ดเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท และแอปฯ เป๋าตัง นำไปต่อยอดการขอรับใชบริการด้านสาธารณสุขจากภาครัฐ การลงทะเบียนจองฉีดวัตซีนโควิด-19 , Health Wallet
"ศักยภาพเทคโนโลยีทางการเงินจะถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และดึงดูดคนเก่งเข้ามาสู่โลก FINTECH มากขึ้น โจทย์ด้านสังคมและเศรษฐกิจในไทยและของโลก มีความท้าทายใหม่ๆเสมอ"นายผยง กล่าว