GPC- กทท.เซ็นสัญญาโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3, เริ่มรับรู้กำไรปี 68

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 25, 2021 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

GPC- กทท.เซ็นสัญญาโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3, เริ่มรับรู้กำไรปี 68

บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) ร่วมลงนามสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership:PPP) กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เพื่อพัฒนาและดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F จังหวัดชลบุรี มูลค่าการลงทุนในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างหน้าท่าจำนวน 30,871 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการภายในปี 2568 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีดังกล่าว

GPC เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 40% ร่วมกับบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) และ บริษัท เชค โอเวอร์ซี อินฟราสตรัคเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (CHEC OVERSEA INFRASTRUCTURE HOLDING PTE. LTD.: CHEC OVERSEA) ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 30% และ 30% ตามลำดับ

นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF ในฐานะประธานกรรมการ GPC กล่าวว่า ทางกลุ่ม GPC รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมทำ PPP กับทางภาครัฐ ซึ่งการรวมตัวกันของกลุ่ม GPC นี้ถือเป็นการนำจุดแข็งที่แต่ละพันธมิตรมีมาร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ โดยทาง GULF พร้อมนำความแข็งแกร่งและประสบการณ์อันยาวนานในการพัฒนาและบริหารจัดการโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศมาร่วมพัฒนาท่าเรือ

ส่วนทางพันธมิตรอย่าง PTT TANK มีประสบการณ์ด้านการบริหารท่าเทียบเรือ การจัดการคลังสินค้า และการขนถ่ายผลิตภัณฑ์เหลว และ CHEC OVERSEA บริษัทลูกของ China Harbour Engineering Company Limited เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และโครงการท่าเทียบเรือตู้สินค้าระดับโลก

โดยหลังจากลงนามเสร็จจะเริ่มงานในส่วนของการออกแบบควบคู่ไปกับการเตรียมทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเดินหน้าโครงการและพร้อมร่วมมือกับภาครัฐในการผลักดันให้เกิดท่าเรือที่จะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ที่จะสนันสนุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์อื่น ๆ ของทางกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคตอีกด้วย

ทั้งนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ดำเนินการถมทะเล ในขณะที่ GPC จะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ และซ่อมบำรุงรักษาท่าเทียบเรือ F1 และ F2 เพื่อรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าด้วยระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติซึ่งมีความสามารถในการรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้อย่างน้อย 4,000,000 ทีอียูต่อปี โดย GPC จะได้รับรายได้จากการประกอบกิจการท่าเรือ เช่น ค่าภาระการใช้ท่าของเรือ ค่าภาระยกขนตู้สินค้า ค่าภาระการใช้ท่าของตู้สินค้า

นายรัฐพล กล่าวว่า การลงทุนของ GPC คาดจะใช้เงินกู้ 60-70% ของงบลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท และมาจากทุน 8-9 พันล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน GPC มีทุนจดทะเบียน 4 พันล้านบาท

ส่วนผลตอบแทนการลงทุน บริษัทเชื่อมั่นว่าท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นท่าเรือที่มีศักยภาพ โดยมีหน้าท่ามีความยาว 2 กม. และมีความลึก 18 เมตร สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ และมีการใช้ระบบ Fully Automation Port โดยจะสร้างท่าเรือ F1 แล้วเสร็จใปนี 2568 ซึ่งรองรับตู้สินค้า 2,000,000 ทีอียูต่อปี และท่าเรือ F2 จะแล้วเสร็จในปี 2572 ที่รองรับตู้สินค้าได้อีก 2,000,000 ทีอียูต่อปีรวม เป็น 4,000,000 ทีอียูต่อปี คาดจะมีรายได้ 8 พันล้านบาท/ปี ซึ่งรายได้ในปี 68-72 คาดมีรายได้ 4 พันล้านบาท/ปี และคาดรับรู้กำไรได้ในปี 68 ขณะที่ระยะเวลาคืนทุน (Payback Period) อยู่ที่ 10 ปี นับจากปี 68

นอกจากนี้ GPC อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาผู้บริหารท่าเรือจากต่างประเทศ ซึ่งในเอเชียจะมาจากสิงคโปร์ ฮ่อกง ,ตะวันออกกลาง และเนเธอร์แลนด์ คาดใช้เวลาประมาณ 1 ปี เพราะจะได้เข้ามช่วยออกแบบท่าเรือด้วย

ทั้งนี้ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนของท่าเทียบเรือ F จะมีระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี มีเงื่อนไขสัญญากลุ่มที่กลุ่ม GPC จะเริ่มจ่ายค่าสัมปทานในปีที่ 3 นับจากออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการ(NTP) ในวงเงินประมาณ 70 ล้านบาท และปรับเพิ่มขึ้นตามการเจรจาข้อตกลงในสัญญา จนถึงปีที่ 35 คิดเป็นค่าตอบแทนทั้งหมด 87,471 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) จะอยู่ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานแปรผันที่ 100 บาทต่อทีอียู โดยมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน 11%

และมีกำหนดเปิดดำเนินการปลายปี 2568 โดยโครงการฯ จะเพิ่มศักยภาพรองรับตู้สินค้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 7 ล้านตู้/ปี หรือเพิ่มจาก 11 ล้านตู้/ปี เป็น 18 ล้านตู้/ปี รองรับการขยายตัวของปริมาณเรือขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้น และเชื่อมต่อการพัฒนาสู่ท่าเรือบก (Dry port) กับประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้า และเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าภูมิภาคเอเชียไปสู่ตลาดโลก

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ได้ส่งเสริมการขนส่งแบบไร้รอยต่อ โดยจะมีระบบรางหลังท่าเรือ เพื่อผลักดันให้ใช้ระบบรางขนส่งจาก 7% ในปัจจุบันเพิ่มเป็น 30% และเร่งให้ การท่าเรือฯ ดำเนินการพัฒนา Dry Port เพื่อเชื่อมการขนส่งแบบไร้รอยต่อ ไม่ต้องเข้าไปเช็คสินค้าในแต่ละการขนส่ง

เรือโทยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า กทท.มีแผนสร้างรางรถไฟจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังสถานีแหลมฉบัง ระยะทาง 5 กม.เงินลงทุน 700 กว่าล้านบาท ซึ่ง กทท.จะเป็นผู้ลงทุนเอง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2572


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ