(เพิ่มเติม) รมว.คลัง ชี้ GDP ปี 65 โต 4%ไม่ไกลเกินเอื้อม จากลงทุนภาครัฐขับเคลื่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 29, 2021 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ " เหลียวหลัง แลหน้า มองทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 65" โดยระบุว่า ในปีหน้า กระทรวงการคลัง ประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะเติบโตได้ราว 4% สอดคล้องกับการประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่คาดว่า GDP ของไทยปี 65 ที่คาดว่าจะเติบโตได้ในช่วง 3.5-4.5% ทั้งนี้ เชื่อว่าการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า โดยจะเห็นได้ว่าจากงบประมาณรายจ่ายปี 65 ซึ่งเป็นงบลงทุนประมาณ 6 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีก 3 แสนล้านบาท รวมเป็น 9 แสนล้านบาท ประกอบกับมีเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ อีกเกือบ 3 แสนล้านบาท ซึ่งจะรวมทั้งหมดเป็นกว่า 1.1 ล้านบาท ที่จะช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทย ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ ทั้งระบบขนส่ง คมนาคม ที่ในปีหน้าจะสามารถขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ในปีนี้ต้องหยุดชะงักไปบางช่วงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในแคมป์คนงานก่อสร้าง ขณะเดียวกัน มองว่าในปีหน้า มาตรการด้านการคลังยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการ เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจว่ารัฐบาลจะมีการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อช่วยหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ เพียงแต่อาจต้องปรับลดลงบ้างในส่วนของมาตรการช่วยเหลือเยียวยา เนื่องจากเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และการบริโภคในประเทศจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มากเช่นในช่วงปี 63 และปี 64 "อัตราการบริโภคในปีนี้ ไม่ได้ติดลบมากอย่างที่คาดไว้ เพราะมีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่ในปี 65 การใช้มาตรการเยียวยา หรือการกระตุ้นอาจต้องปรับลดลง" รมว.คลัง กล่าว นายอาคม กล่าวด้วยว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 65 ภายใต้กรอบที่ 3.5-4.5% นั้น จะต้องเป็นการเติบโตที่กระจายตัวได้อย่างทั่วถึง ไม่ใช่เติบโตแค่เพียงเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่มีเทคโนโลยีทันสมัยเท่านั้น แต่ต้องสร้างการเติบโตในกลุ่มของเศรษฐกิจชุมชนควบคู่กันด้วย ซึ่งในกลุ่มนี้ถือเป็นฐานรายได้ที่สำคัญในอนาคตของประเทศ พร้อมเห็นว่า ในส่วนของภาครัฐเอง จะต้องเข้าสู่สังคมดิจิทัลที่เข้มข้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการให้บริการของภาครัฐ การโอนเงิน การทำมาตรการช่วยเหลือต่างๆ นอกจากนี้ ในภาคของตลาดทุนก็จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนปี 65-70 ที่กระแสดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น "จากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ทำให้ต้องติดตาม และเตรียมความพร้อม ถ้าไม่ป้องกัน ก็ยากจะเห็นเศรษฐกิจเดินคู่ขนานไปกับโควิดได้ ... เราเชื่อว่าในปี 65 หากรวมพลังกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยยืนได้ การเติบโตที่ 4% ไม่ไกลเกินเอื้อม" รมว.คลัง ระบุ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในการเสวนา หัวข้อ "เศรษฐกิจหลังเปิดประเทศ" ว่า หากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" ไม่มีความรุนแรงเหมือนเช่นในปีนี้ ก็เชื่อว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยได้ในไตรมาส 1 ปี 65 และจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ซึ่งจะเห็นว่าการบริโภคเริ่มกลับมาบ้างแล้วภายหลังจากการเปิดประเทศ เพียงแต่ยังไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคที่ภาคธุรกิจในท้องถิ่นยังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ประชาชนยังมีหนี้ครัวเรือนสูง ท่ามกลางความกังวลว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และการได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด "ดังนั้น การฟื้นตัวอาจจะต้องเริ่มจากกลุ่มบน-กลาง ถ้าโอไมครอนไม่รุนแรงมาก ก็เชื่อว่าไตรมาส 1 น่าจะเริ่มเห็นสัญญาณ (การบริโภค) และไตรมาส 2 ก็น่าจะดีขึ้น" นายธนวรรธน์กล่าว โดยมองว่า ปีหน้าภาคการท่องเที่ยวแม้จะทำรายได้ไม่สูงที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเข้าไทยราว 5 ล้านคนนั้น แต่ภาคการท่องเที่ยวจะมีบทบาทสำคัญเทียบเท่ากับการใช้จ่ายของภาครัฐ เนื่องจากเมื่อการท่องเที่ยวเริ่มฟื้น จะทำให้มีรายได้กระจายลงสู่ชุมชนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอีกหลายธุรกิจ "ปีหน้า การท่องเที่ยวซึ่งเป็นพระรอง แต่จะมาทำหน้าที่เป็นพระเอกได้ แม้รายได้ท่องเที่ยว 2 แสนล้านบาท จะเป็นเม็ดเงินที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่ 1 ล้านล้านบาทได้ ที่มีทั้งงบลงทุน งบกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน รวมทั้งการกู้เงินในอนาคตจากการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ต่อจีดีพี" นายธนวรรธน์ กล่าว ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เชื่อว่า แม้จะมีการค้นพบไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่เข้ามา แต่ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยสำนักวิจัย CIMBT ยังคงคาดการณ์ว่าปี 65 GDP จะเติบโตได้ 3.8% เนื่องจากเชื่อว่าการที่หลายประเทศทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้กับประชาชนมากขึ้น จะทำให้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดไม่รุนแรงจนนำไปสู่การล็อกดาวน์ที่ขยายวงกว้างดังเช่นในปี 63-64 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตได้ และจะช่วยหนุนภาคการส่งออกของไทยในปีหน้าให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี หากการระบาดระลอกใหม่กลับมาอีกครั้ง ก็คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแค่เพียงระยะ 3 เดือน หรือราว 1 ไตรมาสเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปี "ถ้ามีการระบาดของโอไมครอน อาจจะกระทบกำลังซื้อ คนไม่กล้าใช้จ่าย ไม่ท่องเที่ยว แต่จากการที่มีการฉีดวัคซีนกันมากขึ้น เชื่อว่าจะไม่กลับไปล็อกดาวน์มากอย่างปี 63 และ 64 กิจกรรมเศรษฐกิจยังขับเคลื่อนไปได้...ล่าสุดเราประเมินไว้ที่ 3.8% ถ้าจะกระทบจริงคงแค่เพียงไตรมาสเดียว ไม่ทำให้ GDP ทั้งปีแย่ลง...ปัจจัยพื้นฐานยังไม่เปลี่ยน สถานการณ์ตอนนี้เราดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะฉีดวัคซีนกันมากขึ้น" นายอมรเทพ กล่าว ทั้งนี้ สำนักวิจัย CIMBT คาดว่าจากการที่ไทยเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่ในช่วงปลายปีนี้ จะมีผลต่อเนื่องไปยังปีหน้า โดยจะได้ให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนตั้งแต่กลางปี 65 เป็นต้นไป คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นและกระจุกตัวในช่วงครึ่งปีหลัง โดยประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 5.1 ล้านคน "โอไมครอน อาจกระทบแค่ไตรมาสเดียว คือปลายปีนี้ต่อเนื่องไปไตรมาสแรกปี 65 แต่เรามองว่าการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นในช่วงครึ่งปีหลัง จำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะกระจุกตัวอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งปีคาดไว้ที่ 5.1 ล้านคน" นายอมรเทพ ระบุ พร้อมเชื่อว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้า เปรียบเทียบได้กับเสือหมอบที่พร้อมจะกระโจนไปข้างหน้า โอกาสจะเติบโตได้ 4% มีความเป็นไปได้แน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ