นายบัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล กล่าวสัมมนา Thailand Economic Outlook 2022 อนาคตเศรษฐกิจไทย ในหัวข้อ "มองเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางโควิด" ว่า การพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศควรมองหาแนวทางใหม่เพิ่มเติม ซึ่งช่วงที่ผ่านมาพบว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาจากการส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่การบริโภคภายในประเทศยังขยายตัวต่ำ หนี้ครัวเรือนมีสัดส่วนสูงขึ้น การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ระบบเศรษฐกิจยังมีความอ่อนแอ ทำให้การฟื้นตัวไม่สมดุล และสถานการณ์ในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนสูง
สิ่งที่ควรทำ 3 ประการ คือ 1.การให้ภาคเอกชนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการลงทุนสร้างสินค้าใหม่ ขณะที่ภาครัฐควรมีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน 2.การกำหนดกฎกติกาที่มีความเสมอภาค และ 3.การเสริมทักษะแรงงานให้มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนเพราะจะช่วยให้แรงงานมีงานทำ
รัฐบาลควรปรับเปลี่ยนวิธีการของนโยบายการคลังจากการแจกเงินมาเป็นการสร้างงาน โดยมีเป้าหมายการใช้เงินที่ชัดเจนมากขึ้น และต้องไม่มองข้ามเรื่องเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุน
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การพบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้ต้องมีการทบทวนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่วางไว้ว่าจะเกิดการสะดุดหรือไม่ และเชื่อว่าเกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน
"ตอนนี้ก็รอฟังนักวิทยาศาสตร์ว่าสายพันธุ์ใหม่จะรุนแรงกว่าเดิมหรือเปล่า เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง" นายศุภวุฒิ กล่าว
ระบบเศรษฐกิจของไทยมีปัญหาต้องปรับเรื่องโครงสร้าง เช่น การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยทำให้ขาดแรงงาน การใช้พลังงานที่มีราคาแพง การนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่อาจนำเชื้อโรคมาแพร่ระบาด แนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาวต้องถามตัวเองว่าเก่งเรื่องอะไร เพื่อจะได้ส่งเสริมอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาไม่ได้สนใจกันว่าจะใช้อะไรนำเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการกินบุญเก่า ทำให้ละเลยการพัฒนา และมีการลงทุนต่ำ
"การฟื้นเศรษฐกิจคงไปอาศัยท่องเที่ยวไม่ได้ คงกลับมายาก อย่าไปรอ ควรถอดเอาทรัพยากรไปใช้สนับสนุนในสาขาที่มีโอกาสเติบโตได้ดีกว่า" นายศุภวุฒิ กล่าว
สถานการณ์ในอนาคตไม่มีใครรู้ว่าหากสามารถสกัดสายพันธุ์โอไมครอนได้แล้วจะไม่เกิดสายพันธุ์ใหม่อีก ทำให้เชื่อว่าในอนาคตการเดินทางจะลดลง
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ก่อนหน้ามีการประเมินว่าในปีหน้านักท่องเที่ยวต่างชาติอาจเดินทางเข้ามาได้ถึง 10 ล้านคน และจีดีพีจะขยายตัวได้ถึง 5% แต่การพบเชื้อสายพันธฺ์ใหม่เมื่อ 4 วันก่อนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ตอนนี้ยังไม่รู้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติแค่ 6 ล้านคนจะมาถึงหรือไม่ เพราะต้องดูไปมากกว่ายอดผู้ติดเชื้อ เช่น จะมีการล็อกดาวน์หรือไม่
ปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ได้แก่ ระบบสาธารณสุขต้องไม่เกิดอาการสะดุด, ภาวะการเงินต้องไม่สะดุด สามารถดูแลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ มีสินเชื่อใหม่ และมีการปรับโครงสร้างหนี้, การใช้มาตรการทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ใช่การแจกเงิน
นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 65 จะโตเพิ่มจาก 3% เป็น 3.7% หลังจากปรับประมาณการเศรษฐกิจในไตรมาส 3/64 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 0.6% เป็น 1.2% แต่พอมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มจากการพบสายพันธุ์ใหม่ก็ต้องรอดูว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงการส่งออก การฟื้นตัวของระบบเศรษบกิจมาจากปัจจัยภายนอก และยังไม่รู้ว่าฟื้นตัวแล้วจะมีความแข็งแรงหรือไม่ ขณะที่มีความเสี่ยงและความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ในอนาคตการเติบโตทางเศรษฐกิจคงจะมองแค่ในภาพรวมไม่ได้ ต้องลงลึกไปในรายละเอียดแต่ละรายสาขาที่มีการฟื้นตัวแตกต่างกัน กลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะฟื้นตัวช้า และมีความเปราะบางสูง ขณะที่ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวไปผลิตสินค้าที่มีความต้องการของตลาด การแตกห่วงโซ่การผลิตเพื่อป้องกันผลกระทบหากเกิดการสะดุด ส่วนพฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปจากเดิม