นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ถึงเทรนด์ตลาดสินค้าอาหารสุขภาพในแคนาดา ปี 65 แล้ว โดยทูตพาณิชย์ได้ทำการศึกษาและรวบรวมอาหารที่มีแนวโน้มเติบโตได้จำนวน 10 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการสูง มีสารอาหารและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย และเป็นสินค้าที่ให้คุณค่าเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
สำหรับสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตทั้ง 10 รายการ ได้แก่ 1. รสส้มยูสุ (Yuzu) เพราะจุดเด่นของรสชาติส้มที่ไม่หวานมากนัก แต่มีกลิ่นความหอมจากส้มโดยเฉพาะ อีกทั้งสรรพคุณที่มีวิตามินซีสูง ส้มยูสุจะกลายเป็นรสชาติที่ผู้ผลิตอาหารหลายรายเลือกมาใช้แต่งกลิ่นและรสชาติอาหารสำหรับปี 65 เช่น น้ำส้มสายชูหมัก ไอศกรีม มายองเนส เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อัดก๊าซ (Hard Seltzers) และสามารถสะท้อนความต้องการผู้บริโภคในด้านสุขภาพที่ดีได้อย่างลงตัว
2. Ultraurban Farming การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ หรือการปลูกผักไร้ดิน เพราะระบบการปลูกผักวิธีนี้ จะช่วยประหยัดน้ำมากกว่าการปลูกผักในดินปกติไม่น้อยกว่า 10 เท่า และยังป้องกันมลพิษที่จะเกิดขึ้นในพื้นดินจากการใช้สารเคมี โดยปัจจุบันจึงกลายเป็นวิธีการที่นิยมปลูกกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเกษตรกรมีการนำเทคโนโลยีการจัดการมาใช้ที่ทำให้พืชผักมีความสะอาด และสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตมากขึ้น ส่งผลให้สามารถป้อนผลผลิตสู่ตลาดอาหารในวงกว้างได้
3. Reducetarianism สนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืนมากขึ้น โดยการลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากวัวและไข่ที่มาจากการเลี้ยงในเชิงอุตสาหกรรม แต่เลือกซื้อเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เลี้ยงตามธรรมชาติ เช่น เนื้อวัวจากวัวที่เลี้ยงในทุ่งหญ้า ไข่จากแม่ไก่ที่จะปล่อยอิสระหาอาหารจากธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งเทรนด์การเลือกซื้อเช่นนี้ นับว่าเป็นการเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และทารุณกรรมจากการเลี้ยงสัตว์
4. ดอกชบา (Hibiscus) โดยได้รับการยอมรับว่ามีคุณสมบัติที่มีประโยชน์ต่อการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ด้วยรสชาติรสเปรี้ยวเล็กน้อย และอุดมด้วยวิตามินซี ผู้ประกอบการอาหารจึงเลือกนำมาเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ใส่ในชา โยเกิร์ต แยมผลไม้ เป็นต้น
5. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไร้แอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% ซึ่งขณะนี้ตลาดแคนาดาพบดีมานด์ตลาดเครื่องดื่มกลุ่มนี้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงการเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่ผู้บริโภคมองหาเครื่องดื่มใหม่ๆ เพื่อดื่มทดแทนเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ สำหรับกลุ่มคนที่ไม่อยากได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์ แต่ยังคงได้ประสบการณ์การดื่มที่สนุก ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ
6. ธัญพืชจากฟาร์มรักษ์โลก จากแนวคิดที่ผู้บริโภคต้องการสนับสนุนการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ยังคงเป็นกระแสรักษ์โลก ผู้ประกอบการค้าปลีกจึงต้องสรรหาวัตถุดิบที่มาจากฟาร์มเหล่านั้น เพื่อตอบโจทย์กับกลุ่มผู้บริโภคนั้นให้ได้ เพราะเชื่อว่าเป็นอีกปัจจัยที่ผู้บริโภคจับตามององค์กรธุรกิจในทุกวันนี้กับกิจกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในลักษณะต่างๆ
7. เมล็ดทานตะวัน ธัญพืชเพื่อสุขภาพ เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย จึงได้กลายเป็นส่วนประกอบที่ผู้ผลิตอาหารเลือกนำมาใช้สำหรับขนมขบเคี้ยว ไอศกรีม ชีสสำหรับเทรนด์อาหารใหม่ๆ
8. ใบมะรุม (Moringa) เป็นพืชกำเนิดในแถบใต้เชิงเขาหิมาลัยและในทวีปแอฟริกา โดยมะรุมเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณในหลายด้าน และผู้ประกอบการได้มีการนำมาแปรรูปแบบผงแห้ง เพื่อให้ง่ายต่อการเป็นวัตถุดิบในอาหารและเครื่องดื่ม เช่น เครื่องดื่มสมูทตี้ ซอส ขนมอบ โปรตีนบาร์ และอื่นๆ
9. เครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมโซดาในแบบ Functional เช่น โซดาสูตรผสมโปรไบโอติกส์ หรือน้ำโทนิคผสมพรีไบโอติกส์ โดยทั้งสองอย่างนั้น คือ จุลินทรีย์ชนิดดีที่มาแรงในวงการอาหาร โดยจัดเป็นกลุ่มอาหารที่เรียกว่า ซูเปอร์ฟู้ด อาหารที่มีคุณค่าโภชนาการสูง และมีคุณประโยชน์ด้านระบบย่อยอาหาร เพื่อตอบสนองลูกค้าที่ต้องการสิ่งใหม่ๆ เพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง
10. สมุนไพรขมิ้นชัน (Trumeric) ได้กลายเป็นสมุนไพรที่นิยมในอุตสาหกรรมยาและอาหารมาเมื่อไม่นานนี้ เนื่องจากมีสารช่วยต้านอนุมูลอิสระอยู่ในตัวสมุนไพรที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดความเสื่อมของร่างกาย และยังมีสรรพคุณที่ช่วยปรับ และกระตุ้นระบบย่อยอาหารในร่างกาย ผู้ประกอบการอาหารจึงเลือกนำมาเป็นเครื่องปรุง และส่วนผสมในเมนูใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประโยชน์ให้กับอาหารที่รับประทาน เช่น ซีเรียล ขมิ้น ชันสมูทตี้ กะหล่ำปลีเปรี้ยว เป็นต้น
"เทรนด์แนวโน้มอาหารปี 65 ของแคนาดา ส่วนใหญ่เน้นเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การลดขยะจากอาหาร ผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทยที่ทำตลาดแคนาดา ควรศึกษาและนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับใช้ในการผลิตอาหารของไทย โดยเฉพาะการใช้วัตถุดิบสมุนไพรที่ไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก มาเพิ่มมูลค่าในอาหารแทนที่จะส่งออกเป็นวัตถุดิบโดยตรง ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่า และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารไทยเข้าสู่ตลาดแคนาดาได้เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดโลกอื่นๆ" นายภูสิต กล่าว