นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค.64 อยู่ที่ระดับ 97.99 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และปรับตัวดีขึ้นจากเดือน ก.ย.ที่ 0.3% ส่งผลให้ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 5.93%
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตในเดือน ต.ค. ได้แก่ สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการในเดือน ต.ค.64 ในภาพรวมทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ, การคลายล็อกดาวน์ของประเทศคู่ค้าทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น การส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาดส่งผลให้การผลิตรถยนต์กลับมาขยายตัว และความต้องการซื้อในประเทศและต่างประเทศเริ่มขยายตัวในหลายสินค้า หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน ต.ค.64 อยู่ที่ 64.07% เพิ่มขึ้นจาก 62.06% ในเดือน ก.ย.64 ส่งผลให้ CapU ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 63.26%
"อัตราการใช้กำลังการผลิตส่งสัญญาณดีขึ้นหลังสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 93.99 เมื่อเทียบกับดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 93.31 โดยดัชนีแรงงานในอุตสาหกรรมสำคัญหลายกลุ่ม" นายทองชัย กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมส่งผลบวกในเดือน ต.ค.64 ได้แก่
- รถยนต์ และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.02% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จากกลุ่มสินค้ารถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก เนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนรถยนต์เริ่มคลี่คลายและกลับมาผลิตเป็นปกติประกอบกับผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นมากขึ้น จากมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้ตลาดในประเทศและตลาดส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น
- ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.41% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามความต้องการสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ในตลาดโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น โทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก, เซิร์ฟเวอร์รถยนต์ และอุปกรณ์ Smart home เป็นต้น
- น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.26% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จากกลุ่มสินค้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเบนซินออกเทน 91 เป็นหลัก จากการเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้วในปีนี้ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูป มีเพิ่มขึ้น ประกอบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการหยุดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นบางหน่วย
- เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 36.17% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จากกลุ่มสินค้าเครื่องเรือนทำด้วยไม้ และเครื่องเรือนทำด้วยโลหะ เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่กลับเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะลูกค้าจากอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ส่วนตลาดในประเทศได้รับคำสั่งซื้อสินค้าเครื่องเรือนทำด้วยโลหะจากห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ เพิ่มขึ้น
- ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.88% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จากกลุ่มสินค้ายางแท่ง ยางแผ่น และยางรัดของ เป็นหลัก จากคำสั่งซื้อที่กลับเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศจีน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย
ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า การคลายล็อกดาวน์ของประเทศคู่ค้าหลายประเทศ ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตรถยนต์กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ความต้องการซื้อในประเทศและต่างประเทศเริ่มขยายตัวในหลายสินค้า หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว นอกจากนี้มีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่
สำหรับการส่งออกของไทยยังมีการขยายตัวที่ดี โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือน ต.ค.64 ขยายตัว 3.86% มูลค่า 18,000.50 ล้านดอลลาร์ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) ขยายตัว 12.65% มูลค่า 17,458.30 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ในส่วนการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 25.39% ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมถึง การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 25.52% ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
สำหรับคาดการณ์ดัชนี MPI ทั้งปี 64 คาดว่าจะขยายตัว 5.2% และ GDP อุตสาหกรรมจะขยายตัว 3.9% ส่วนในปี 65 คาดดัชนี MPI จะขยายตัว 4.0-5.0% และ GDP อุตสาหกรรมจะขยายตัว 2.5-3.5%
โดยภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยจากการจัดทำระบบชี้นำและเตือนภัยภาคอุตสาหกรรมของ สศอ.พบว่าในเดือน พ.ย.64 มีสัญญาณของสถานการณ์การผลิตปกติต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดีขึ้น หลังจากส่งผลกระทบให้ดัชนีหดตัวมาตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสอดรับกับการ เปิดประเทศและคู่ค้าหลักขยายตัวได้ดีขึ้นตามคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกและคาดว่าจะส่งสัญญาณปกติจนถึงเดือน ธ.ค.64 และเดือน ม.ค.65
อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศได้กลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งจึงอาจจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก