นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ดำเนินโครงการจัดทำแผนการพัฒนาสถานีประจุแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และมีความสอดคล้องกับทิศทางภาพรวมในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่มีเพียงพอต่อความต้องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า และไม่เกิดภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในระยะยาว
ทั้งนี้ สนพ. จึงได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะผ่านช่องทางออนไลน์ 4 ครั้ง โดยเชิญกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. หน่วยงานภาครัฐ 2. หน่วยงานภาคขนส่งและผู้ให้บริการอัดประจุ EV 3. หน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า และ 4. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเสนอความคืบหน้าผลการศึกษาของโครงการฯ และรวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการกำหนดรูปแบบ และการบริหารจัดการข้อมูลจากยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ เพื่อนำมาวิเคราะห์และปรับปรุงผลการศึกษา
โดยการประชุมรับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 ครั้ง เป็นการหารือแนวทางการกำหนดรูปแบบ และการบริหารจัดการข้อมูลจากยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ แผนการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ความพร้อมของมาตรฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาการติดตั้งสถานีอัดประจุ ปัญหาและอุปสรรคในดำเนินธุรกิจสถานีอัดประจุ และความเป็นไปได้ในการเก็บข้อมูลการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ การสำรวจความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 4 ครั้ง พบว่า ในด้านนโยบายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้าในแต่ละประเภท ต้องการให้ส่งเสริมในกลุ่มรถยนต์ส่วนบุคคล รถกระบะ เป็นอันดับแรก รองลงมา คือ กลุ่มรถโดยสาร เรือโดยสาร กลุ่มรถจักรยานยนต์ รถสามล้อ และกลุ่มรถบรรทุก ตามลำดับ
นอกจากนี้ ต้องการให้ส่งเสริมการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าจากที่พักอาศัยเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ สถานีชาร์จสาธารณะ ลานจอดรถ สถานที่ทำงาน และสถานที่ราชการ ตามลำดับ ขณะเดียวกันยังได้แนะนำให้มีมาตรการส่งเสริมการพัฒนาสถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้าแบบสาธารณะ เช่น การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน การสนับสนุนเงินทุน การสนับสนุนด้านภาษี เป็นต้น และควรออกแบบอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าให้มีความเหมาะสม
อีกทั้งยังเสนอให้มีการเตรียมความพร้อมของสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้งาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนยานพาหนะมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ขณะที่ความปลอดภัยก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าที่ติดตั้งใช้งานแล้วด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี สนพ. จะนำผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำแผนการพัฒนาสถานีประจุแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วน