นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวงเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 7.6 หมื่นล้านบาท และเห็นชอบเงินช่วยเหลือปรับปรุงคุณภาพข้าวไร่ละ 1,000 บาท จำนวนไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือ ไม่เกิน 20,000 บาท
พร้อมกันนี้ ครม.ได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะ 3 วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การจ่ายเงินประกันรายได้ให้ชาวนาไปแล้ว 2 งวด 13,000 ล้านบาท คงเหลืออีก 31 งวดที่ยังไม่ได้จ่าย ซึ่งวันนี้ครม.ได้อนุมัติวงเงินให้แล้ว และอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะ 3 วงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งขั้นตอนต่อไปธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จะพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมติครม. โดยคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินทั้งในส่วนของข้าวและยางพาราได้ไม่เกินกลางเดือนธ.ค.นี้
ทั้งนี้ ราคายางอาจจะไม่ใช้วงเงินถึง 10,000 ล้านบาท แต่เตรียมวงเงินไว้ เพราะขณะนี้ราคายางอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งน้ำยางข้นประกันราคา 57 บาท/กก. แต่ราคาจริงอยู่ที่ 60 บาทแล้ว ยางก้อนถ้วยประกันราคา 23 บาท/กก. แต่ราคาจริงไปอยู่ที่ 24-26 บาทแล้ว ถือว่าราคาเกินราคาประกันแล้ว จึงยังไม่จำเป็นต้องจ่ายส่วนต่างให้กับเกษตรกร
ส่วนกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีแนวคิดอยากให้บรรจุโครงการประกันราคาอยู่ในงบประมาณปี 66 นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ ต้องขึ้นอยู่กับแนวโน้มพืชผลการเกษตรในปีงบประมาณหน้าด้วยที่จะเป็นปัจจัยนำมาสู่การคิดคำนวณว่า เงินส่วนต่างจะเป็นเท่าไหร่ แต่ทั้งหมดอยู่ที่นโยบายด้วยว่าจะให้ใส่ในงบประมาณหรือใช้ในรูปแบบใช้เงินธกส. สำรองล่วงหน้าไปก่อนแล้วรัฐบาลตั้งงบประมาณชดใช้ภายหลัง ซึ่งในส่วนตนเองและกระทรวงพาณิชย์พร้อมดำเนินการไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตามที่เหมาะสม
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติอนุมัติวงเงินรวม 76,080.95 ล้านบาท ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 เพิ่มเติม โดยแบ่งเป็นวงเงินจ่ายชดเชยให้เกษตรกรจำนวน 74,569.31 ล้านบาท และค่าใช้จ่าย ธ.ก.ส. จำนวน 1,511.64 ล้านบาท
นายธนกร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ต้องการเห็นเกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสม ป้องกันความเสี่ยงในการจำหน่ายผลผลิต และช่วยเกษตรกรในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์ โควิด-19 ขณะนี้ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามนโยบายของรัฐที่แถลงต่อรัฐสภาไว้
นอกจากนี้ ครม.มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 วงเงินรวม 10,065.69 ล้านบาท โดยเป็นการประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและเกษตรกรที่แจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทยภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 จำนวน 1,880,458 ราย โดยพื้นที่สวนยางกรีดได้ 19.16 ล้านไร่และประกันรายได้ในระหว่างตุลาคม 2564 -มีนาคม 2565
หลักเกณฑ์และข้อกำหนดโครงการ ฯ ดังนี้ เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่, ผลผลิตยางแห้ง จำนวน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร, ผลผลิตยางก้อนถ้วย จำนวน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร่ และกำหนดเงินค่าประกันรายได้ โดยราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม และแบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าของส่วน 60 %และคนกรีด 40% ของรายได้ทั้งหมด
ทั้งนี้ งบประมาณ 10,065.69 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณสำหรับประกันประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 9,783.61 ล้านบาท งบประมาณสำหรับชดเชยต้นทุนเงินธนาคาร ภายในวงเงินไม่เกิน 195.68 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและค่าธรรมเนียมโอนเงิน ธ.ก.ส. ให้เกษตรกรชาวสวนยาง 5 บาทต่อรายจำนวน 9.4 ล้านบาท และงบบริหารโครงการจำนวน 77 ล้านบาท
สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางในกรณีที่ราคายางตกต่ำในช่วงวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 เพื่อเพิ่มรายได้ เกษตรกรชาวสวนยางได้เงินส่วนต่างของรายได้ที่ควรได้รับ ทำให้ชาวสวนยางมีรายได้สม่ำเสมออย่างทั่วถึง นับเป็นมาตรการทางอ้อม ที่นำมาใช้แทนการแทรกแซงราคายาง เพื่อลดการบิดเบือนกลไกตลาดในอนาคต
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ยังได้หารือและเห็นชอบหลักการในการดำเนินมาตรการคู่ขนานอื่น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางและผู้ประกอบกิจการยาง อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดแหล่งที่มาของงบประมาณให้มีความชัดเจน เหมาะสม เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ก่อนดำเนินการต่อไป