บสส.เผยเจรจาร่วมทุนแบงก์เข้าบริหารหนี้คาดชัดเจน Q1/65, เตรียมออกหุ้นกู้รองรับซื้อหนี้เพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 1, 2021 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับธนาคารรายหนึ่งในการร่วมทุนกับบริษัทเพื่อต่อยอดธุรกิจ ซึ่งบริษัทจะเข้าไปบริหารหนี้ให้กับธนาคารที่เป็นพันธมิตร ทำให้บริษัทมีรายได้จากการบริหารหนี้เข้ามาเสริมได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การร่วมทุนดังกล่าวยังคงต้องรอการปรับกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงต้นปี 65 ซึ่งคาดว่าการร่วมทุนกับพันธมิตรธนาคารที่เจรจาอยู่นั้นจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 1/65 และการร่วมทุนดังกล่าวบริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่าพันธมิตรธนาคาร เนื่องจากทางพันธมิตรธนาคารต้องมีการป้องกันในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) ทำให้ต้องถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าบริษัท

นายธรัฐพร กล่าวว่า ในปัจจุบันจะเห็นว่าการแข่งของธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ (AMC) มีการแข่งขันที่สูงขึ้น และมีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามา โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนและธนาคารพาณิชย์ต่างๆที่มีการร่วมทุนกับพันธมิตรเข้ามาดำเนินธุรกิจ AMC ซึ่งมองว่าทุกคนเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ ทำให้มีการร่วมทุนกันเพื่อเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทำให้การแข่งขันในตลาด AMC มีสูงขึ้น และปัจจุบันมีผู้ประกอบการในธุรกิจ AMC เพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 60 ราย ที่เป็นธุรกิจที่ Active อยู่ในตลาด

สำหรับบริษัทยังคงเดินหน้าในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจ เพื่อการรักษาอันดับความเป็นผู้นำในตลาดในอันดับ 1 และ 2 อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับภารกิจหลักของบริษัทที่เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประเทศ และช่วยเหลือฟื้นฟูลูกหนี้ให้กลับมาฟื้นขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่บริษัทได้เดินหน้าในการช่วยเหลือลูกหนี้ และแก้ไขปัญหาต่างๆให้กับลุกหนี้ในเชิงรุก

ส่วนการซื้อหนี้เข้ามาบริหารในปี 64 บริษัทยอมรับว่าการซื้อหนี้เข้ามาบริหารในปีนี้ทำได้พลาดเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วงต้นปี 1 หมื่นล้านบาท หลังจากที่การแพร่ระบาดโควิด-19 ในปีนี้กระทบมาต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารมีการชะลอการเปิดประมูลหนี้เสียออกมา โดยจะเห็นว่าในช่วงต้นปีมีหนังสือเชิญบริษัทเข้าไปร่วมประมูลหนี้ในปีนี้ราว 9 หมื่นล้านบาท แต่ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีเพียง 6 หมื่นล้านบาท ที่ทางสถาบันการเงินเปิดประมูลหนี้

อีกทั้งยังเผชิญการแข่งขันที่สูงจากผู้เล่นในตลาดที่มีมาก ทำให้การประมูลหนี้มมีความท้าทายและแข่งขันราคามากขึ้น ทำให้ในสิ้นปี 64 บริษัทคาดว่าจะซื้อหนี้เข้ามาได้ราว 5-6 พันล้านบาท โดยที่ในช่วงไตรมาส 4/64 บริษัทได้เข้าไปประมูลหนี้เสียจากธนาคาร 2 ราย มูลหนี้เสียรวม 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้รับหนี้เสียเข้ามาบริหารในส่วนที่บริษัทเข้าไปประมูล ซึ่งจะเน้นไปที่หนี้ที่มีหลักประกันเป็นหลัก โดยที่ปัจจุบันพอร์ตหนี้เสียที่บริษัทบริหารอยู่รวมกว่า 3 แสนล้านบาท

สำหรับทิศทางของปริมาณหนี้เสียในปี 65 นายธรัฐพร กล่าวว่า ยังไม่เห็นปริมาณหนี้เสียเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นมาก เพราะยังมีมาตรการพักชำระหนี้ของธปท.ที่มีผลถึงสิ้นปี 65 ทำให้ในปี 65 ปริมาณหนี้เสียที่สถาบันการเงินจะมีการเปิดประมูลออกมาจะยังไม่กลับไปที่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 1 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะกลับมาในระดับดังกล่าวได้ในช่วงปี 66 หลังจากหมดมาตรการพักชำระหนี้ของธปท.ไปแล้ว ซึ่งจะเห็นปริมาณหนี้เสียเข้ามาในระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตามบีริษัทตั้งเป้าเข้าไปประมูลซื้อหนี้เข้ามา 10% ของมูลหนี้เสียที่เปิดประมูลในปี 65

ในส่วนของแหล่งเงินทุนที่บริษัทจะนำมาใช้ในการรองรับการเข้าซื้อหนี้มาบริหารนั้นส่วนหนึ่งจะมาจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งบริษัทยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ค่อนข้างมาก และในปี 65 บริษัทเตรียมแผนในการออกหุ้นกู้วงเงิน 5 พันล้านบาท โดยที่ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้จัดอันดับเคดิตเรตติ้ง จากทริส เรทติ้ง ที่ระดับ AA+ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำแผนการยื่นไฟลิ่งกับที่ปรึกษาทางการเงิน คาดว่าจะสามารถเริ่มออกหุ้นกู้ได้ในช่วงไตรมาส 2/65 โดยจะนำเงินดังกล่าวมาใช้รองรับการเข้าซื้อหนี้

นายธรัฐพร ยืนยันว่ายังไม่มีแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และไม่มีความคิดในเรื่องดังกล่าว เพราะบริษัทยึดมั่นต่อพันธกิจหลักของบริษัทตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทขึ้นมาในปี 43 ตามความตั้งใจของภาครัฐ ที่ต้องการให้บริษัทเข้ามาช่วยเหลือและฟื้นฟูปัญหาหนี้สินของประเทศเป็นหลัก ทำให้การนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯบริษัทไม่ได้มีการวางแผนไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ