พล.อ.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รมว.คมนาคม คาดจะนำร่องใช้ตั๋วโดยสารร่วมรถไฟฟ้าบีทีเอส-รถไฟฟ้าใต้ดินได้ไม่เกิน 6 เดือน หลังจากนั้นจะขยายบริการให้ครอบคลุมระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
"คาดว่าอีก 6 เดือนหลังจากนี้ บัตรโดยสารร่วมระหว่างบีเอ็มซีแอลกับบีทีเอสจะเปิดใช้บริการได้ และในอนาคตจะให้โครงการแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ใช้บัตรโดยสารร่วมด้วยเช่นกัน" พล.ร.อ.ธีระ กล่าว
วันนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อดำเนินงานระบบบัตรโดยสารร่วมในระยะแรกระหว่าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTS), บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL), การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนโดยไม่ต้องถือบัตรโดยสารหลายใบ
ในช่วงแรกบัตรโดยสารร่วมจะใช้ได้สำหรับรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าบีทีเอสก่อนเพราะเป็นระบบที่มีความพร้อมมากที่สุด และในอนาคตจะพัฒนาให้ใช้ได้ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ เรือโดยสาร ระบบทางด่วน และในหลักการการจัดทำระบบบัตรโดยสารร่วมจะต้องเป็นมาตรฐานที่สามารถเปิดให้มีผู้ออกบัตรได้หลายราย รวมถึงให้บัตรเดิมที่มีอยู่ของผู้ให้บริการปัจจุบัน คือ บีเอ็มซีแอล และบีทีเอส สามารถใช้ได้ด้วย
ส่วนเรื่องอัตราค่าโดยสารนั้น ระยะแรกจะใช้อัตราเดิมที่รถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าบีทีเอสจัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน และในอนาคตอาจจัดให้มีกลยุทธ์การตลาด จัดโปรโมชั่นต่างๆ ซึ่งการบริหารจัดการด้านการเงินนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้กำกับดูแลอำนวยความสะดวกในด้านการเงิน
สำหรับการดำเนินการในอนาคต คณะกรรมการระบบบัตรโดยสารร่วม เห็นว่าควรกำหนดคุณสมบัติของผู้ออกบัตร หรือลดผู้ออกบัตรเพียงรายเดียวก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้มีการจัดทำ พัฒนา และกำกับดูแลให้การทดลองใช้ระบบบัตรโดยสารร่วม โดยต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการ มูลค่าการลงทุนในอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อให้สามารถลงมือปฎิบัติได้และต้องเปิดให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร
ด้านนายคีรี กาญจพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร BTS กล่าวว่า จะร่วมประชุมกับ BMCL เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง 2 บริษัท
เพื่อให้เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการ แต่จะเปิดกว้างให้หน่วยงานอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในบริษัทดังกล่าวด้วย รวมถึงจะให้มีหน่วยจัดการด้านการเงินในส่วนของบัตรโดยสารร่วมเพื่อทำหน้าที่ในการจัดแบ่งรายได้ค่าโดยสาร ซึ่งต้องมีการหารือในรายละเอียดต่อไป
ส่วนกรณีที่จะกำหนดให้มีค่าโดยสารรถไฟฟ้า 15 บาทนั้น นายคีรี กล่าวว่า ไม่มีความเห็นเรื่องนี้ เป็นสิทธิที่จะพูดแต่การดำเนินงานเป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยส่วนของรถไฟฟ้า BTS บริษัทเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ดังนั้นหากให้เก็บค่าโดยสาร 15 บาทก็ยินดีแต่รัฐต้องให้การอุดหนุน เพื่อให้บริษัทอยู่ได้เพราะเท่าที่เก็บค่าโดยสารในปัจจุบัน ทั้งรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดินยังไม่มีกำไร และมั่นใจว่าการดำเนินงานทุกอย่างมีกฎหมายรองรับ รัฐบาลใหม่เข้ามาก็ต้องยึดข้อกฎหมายเป็นสำคัญ
นายไมตรี ศรีนราวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอนาคตนั้น สนข.จะประมวลข้อมูลเพื่อจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนค่าโดยสาร ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าราคาที่แท้จริงเป็นเท่าใด ส่วนการกำหนดอัตราค่าโดยสารนั้นคงเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะต้องพิจารณาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรม คือเป็นราคาที่สามารถทำให้งานบริการรถไฟฟ้ามีคุณภาพ ปลอดภัย ตรงเวลา
--อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/ธนวัฏ/กษมาพร โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--