นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทั่วโลก และมีแนวโน้มขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย รวมทั้งพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ของประเทศไทย ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และเมียนมา ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่เชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจะเข้าสู่ประเทศ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังปลอดจากโรค ASF แต่ต้องพร้อมรับมือ และทำงานเชิงรุก เนื่องจากปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรค เมื่อเกิดการระบาดแล้วจึงส่งผลกระทบ ทำให้เกิดความเสียหายต่อวงการอุตสาหกรรมการผลิตสุกรอย่างมาก
ดังนั้น จึงผลักดันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นวาระแห่งชาติ และเร่งสั่งการให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการเฝ้าระวัง ศึกษาค้นคว้าความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับโรค ASF และติดตามการให้ความช่วยเหลือในการอนุมัติงบกลาง เพื่อจ่ายชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้มีคำสั่งกรมปศุสัตว์ ที่ 1018/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมงานวิจัยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยมีคณะกรรมการจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม และคณะสัตวแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) เพื่อทำหน้าที่ป้องกันและควบคุมโรค ASF ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่และการพัฒนาวัคซีน ASF ในสุกรต้นแบบ โดยกำหนดแนวทางการวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรค และเสนอจัดหาแหล่งเงินทุนวิจัยสนับสนุน พร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุนให้คำปรึกษา ผลักดันให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรต้นแบบด้วย
"ผลการวิจัยจากคณะกรรมการชุดนี้ จะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในประเทศไทย และยังสามารถเป็นประโยชน์ใช้เป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกด้วย" อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุ
สำหรับการให้ความช่วยเหลือเยียวยาการจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ในปีงบประมาณ 63-64 กรมปศุสัตว์ได้จ่ายค่าชดใช้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่สุกรที่ถูกทำลายแล้ว 470.28 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 65 กรมปศุสัตว์ได้ขออนุมัติงบประมาณปี 65 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำนวน 1,779.83 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าชดใช้ราคาสุกรและสิ่งของที่ถูกทำลาย ค่าตรวจวินิจฉัยและทำลายเชื้อโรค-ซากสัตว์ และค่าครุภัณฑ์ในการปฏิบัติงาน โดยล่าสุด 23 มี.ค.-15 ต.ค. 64 อยู่ระหว่างขออนุมัติงบประมาณเพื่อจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายให้เกษตรกรอีก 4,924 ราย จำนวนสุกร 159,167 ตัว ในวงเงิน 582.36 ล้านบาท
"ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง ที่ยังคงสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร แต่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุและทำงานเชิงรุก จึงได้มีการพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และให้บริการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง" อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุ