พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานสัมมนา "5G THAILAND BIG MOVE" ว่า รอบปีที่ผ่านมา วิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการใช้ชีวิต การทำธุรกิจแบบเดิมไม่สามารถคงอยู่ได้ ทุกประเทศต้องปรับตัวเทคโนโลยีดิจิทัล ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ และกลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักเพื่อต่อสู้กับโลกที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลา
ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นประเทศก้าวหน้า เรียนรู้เทคโนโลยี ปรับตัวรับความท้าทายของโลกได้ดี และไทยเป็นประเทศแรกที่ใช้เทคโนโลยี 5G ในอาเซียน จึงปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลพลิกโฉมประเทศ เพื่อเสริมศักยภาพในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ทั้งด้านการผลิต การเงิน สาธารณสุข และด้านเกษตรซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจากระดับท้องถิ่นสู่ระดับชาติได้ต่อไป
รัฐบาลมีนโยบายที่ใช้เทคโนโลยี 5G ให้เกิดประโยชน์กับคนไทยทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และรองรับสังมคมผู้สูงวัย เกษตรอัจฉริยะ ยกระดับการศึกษา รวมถึงสร้างงาน สร้างรายได้ได้ด้วยเทคโนโลยี 5G
เทคโนโลยี 5จี จะมีความสำคัญมากต่อการการพัฒนาประเทศในโลกวิถีใหม่ รัฐบาลมีความพยายามผลักดันให้เทคโนโลยี5G สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดกับระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวม และเป็นฐานรากที่มั่นคงของเศรษฐกิจไทยในอนาคต เราพยายามผลักดันให้เทคโนโลยี 5G เป็นกลไกในการพลิกโฉมประเทศ ดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก สนับสนุนโอกาสให้กับธุรกิจต่างๆสร้างโอกาสการแข่งขัน ด้วยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งของไทย
มีการคาดการณ์ว่า เทคโนโลยี 5G จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับโลกธุรกิจได้กว่า 950-1,200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 ประโยชน์ของ 5G ที่มีอย่างมหาศาลในการที่นำมาสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ตั้งแต่ในระดับภาคธุรกิจ ไปจนถึงการพลิกโฉมประเทศให้ดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก ดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ตอบโจทย์การเติบโตในอนาคต
"วันนี้เริ่มมองเห็นศักยภาพของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าเสริมประสิทธิภาพการทำงานในส่วนงานต่างๆ โดยให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีดิจิทัลที่ตอบโจทย์ในการเจริญเติบโตในอนาคต จึงคาดการณ์ว่า เทคโนโลยี 5G จะสร้างเม็ดเงินมากกว่า 6.5 แสนล้านบาท และ 5G จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ให้กับประเทศไทย 5.5 เท่า ในปี 2578 แสดงให้เห็นว่า 5G มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาโลกเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองอัจฉริยะในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแท้จริง" พล.อ.ประวิตร กล่าว
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวปาฐกถาพิเศษ "5G BIG MOVE ... ประเทศไทยสู่ DIGITAL HUB ว่า ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยี 5G เป็นเทคโนโลยีที่เป็นโครงสร้างหลักในการพัฒนาประเทศ ทุกวันนี้ทุกคนได้ใช้ชีวิตแบบ New Normal เช่น การประชุมออนไลน์ ขายของออนไลน์ โดยรัฐบาลสนับสนุนใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยการใช้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งหลังจากรัฐได้ประมูลคลื่น 5G และผู้ให้บริการได้มีการลงทุนโครงข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ เชื่อว่าในปี 2570 จะมีผู้ใช้ 5G สูงขึ้น ไม่ต่ำกว่า 70 ล้านรายและจะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจประเทศเพิ่มขึ้น 6.5 แสนล้านบาท รวมทั้งคาดหวังการจ้างแรงงานใหม่ที่คาดการณ์จะมีแรงงานดิจิทัลอย่างน้อย 1.3 แสนตำแหน่ง
เนื่องจากการใช้งานสมาร์ทโฟนที่มากขึ้น และการใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะที่ต้องอาศัย 5G ในภาคอุตสาหกรรม มีการใช้โดรนเชิงพาณิชย์ และสื่อบันเทิงต่างๆ จะมาใช้การสตรีมมิ่งผ่าน 5G
"เราเชื่อว่าการขับเคลื่อน GDP ของประเทศต้องเกิดจากเทคโนโลยี 5G และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ถ้าเราไม่ทำสิ่งต่างๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ และทำให้เกิดการเสียโอกาสไปหลายแสนล้านบาท ถ้าเราไม่ขับเคลื่อน 5G ให้พร้อมกับการแข่งขันเวทีโลก"
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมใช้ 5G มาใช้ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และในนิคมอุตสาหกรรมก็จะช่วยผลักดันให้ GDP ของประเทศโต 5.5 เท่า และทำให้ภาพอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไป มีการใช้โรโบติกมากขึ้น และไทยจะสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้
ขณะเดียวกันในส่วนของภาคของประชาชน ซึ่งเป็นผู้ใช้งานก็จะได้รับประโยชน์จากการที่ภาครัฐเดินหน้าลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผลักดันให้ขยายเครือข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้มีแบนด์วิธที่เพิ่มขึ้น มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการใช้บริการสื่อสารข้อมูลต่ำลง และรองรับการใช้งานรูปแบบใหม่ๆ ได้มากขึ้นทำให้คนไทยสะดวกสบายขึ้น ในการติดต่อสื่อสาร รวมถึง 5G ที่ทำให้ผู้ใช้บริการเข้ามาในระบบได้มากขึ้น
ในอนาคต ความต้องการใช้งาน 5G ของผู้บริโภคจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยคาดว่าในปี 2570 คนไทยจะใช้งาน 5G ไม่ต่ำกว่า 70 ล้านราย (หรือประมาณ 73%) ส่งผลให้ในอีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ 5G อยู่ที่ 2.3 - 5 ล้านล้านบาท รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลจะลดลงอย่างน้อย 38,000 ล้านบาท/ปี
ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เร่งดำเนินการผลักดันการดำเนินงานที่สำคัญ การนำร่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ทั้งหมด 6 Sectors ได้แก่ ด้านการเกษตร ด้านสาธารณสุข ด้านอุตสาหกรรม ด้านการศึกษา ด้านคมนาคมและด้าน Smart City รวมทั้งสิ้น 9 โครงการ ที่กระจายครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยการดำเนินการในระยะถัดไป กำลังผลักดันให้เกิด 5G City ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกพื้นที่
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ร่วมหารือกับนายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูง บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล เพื่อแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติม และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยในอนาคต ตามนโยบายการนำพาประเทศไทย เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2560 โดยถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการผลักดันให้ไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในระบบ 5G ของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางด้าน Data Centers นอกจากนี้ยังมีการหารือเรื่องการส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกมิติ ทั้งการแพทย์ การศึกษา การค้า ธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว การเงิน การเกษตรและอุตสาหกรรมต่างๆ
การพัฒนา Cloud Platform สำหรับทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งต้องเป็นการลงทุนระยะยาวและต่อเนื่อง รวมถึงการอบรม บ่มเพาะ และเร่งพัฒนาบุคลากรดิจิทัล นวัตกรรม และผู้ประกอบการ Startup ให้เป็น "เมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต" (Seeds for the Future) และ การพัฒนา Smart port และ Smart airport โดยการนำเทคโนโลยี 5G และปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี 5G และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นหัวใจในการพัฒนาประเทศ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศให้ GDP ก้าวไปข้างหน้าได้ และที่สำคัญเป้าหมายสูงสุดไม่ได้มีแค่เศรษฐกิจเติบโต แต่ยังคาดหวังว่า 5G จะเข้ามาช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ศูนย์กลางของเมืองอัจฉริยะของภูมิภาคอาเซียนนี้ให้ได้อย่างแท้จริง
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ สายงานโทรคมนาคม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึง"ยุทธศาสตร์ กสทช.พัฒนา 5G ขับเคลื่อนไทย"ว่า ในช่วง 2 ปีข้างหน้ากสทช.มี 3 มิติที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ได้แก่
1. มิติความครอบคลุมของโครงข่าย (Coverage) การขยายโครงข่ายในพื้นที่เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจครอบคลุม 80% ของประชาการและเพิ่มความเร็วทั้ง 5G และ ไฟเบอร์ของ 5G ขึ้นมา 45% ของพื้นที่ทั่วประเทศ
2.มิติความสามารถในการเข้าถึงบริการ (Affordability) ที่จะมีอัตราบริการต่ำกว่า 2%ของ GNI จากปัจจุบัน 2.5-2.6% ของ GNI
3.มิติคุณภาพการให้บริการ (Quality of Service :QOS) ไม่เฉพาะสัญญาณ ยังรวมถึงในเชิงสังคม และการดูแลลูกค้า
จากโจทย์ดังกล่าวเป็นประเด็นท้าทาย กสทช.ในการดำเนินการ กสทช.จึงมียุทธศาสตร์ 4 เรื่อง ได้แก่ 1. Infrastructure Deployment การพัฒนาโครงข่ายไฟเบอร์ ในอาคารสร้างใหม่และอาคารปัจจุบัน 2. Infrastructure Sharing เพื่อไม่ให้มีการลงทุนซ้ำซ้อนโดยมีการวางแผนและดำเนินการร่วมกันในการแชร์โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาโครงข่ายไฟเบอร์รวมถึงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน 3. Coverage การขยายความครอบคลุมและความสามารถในการรับการบริการ 4. Increase Usage ส่งเสริมผู้ใช้รายใหม่ในบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ และสนับสนุนทางการเงิน เช่น แพ็กเกจละ 200 บาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันความครอบคลุมโครงข่ายของโทรคมนาคมในประเทศไทย สำหรับ 3G/4G อยู่ที่ 96.16% ส่วน 5G ครอบคลุมทั่วประเทศอยู่ที่ 44.06% และ 98.53% ในพื้นที่อีอีซี
ส่วนอัตราการเข้าถึงโมบาย บรอดแบนด์ต่อจำนวนประชากร (Mobile Broadband Penetration) ปัจจุบันอยู่ที่ 76% ปีหน้าคาดว่าอยู่ที่ 79% ส่วนปี 2566 จะอยู่ที่ 81% และปี 2567 จะอยู่ที่ 82% ส่วนความเร็วเฉลี่ยของโมบาย บรอดแบนด์ อยู่ที่ 67.35 กิกะบิต ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 68.44 กิกะบิต