นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การที่ภาคธุรกิจหลายแห่งได้ปรับตัวด้วยการใช้คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ในการชำระค่าสินค้าและบริการ หรือออกเหรียญดิจิทัลเองนั้น เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและการเงินดิจิทัลซึ่งเป็นแนวโน้มแห่งอนาคตและสอดคล้องกับระบบการชำระเงินแบบใหม่ ภาคการเงินก็กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการเงิน ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบของบริการทางการเงินในด้านต่างๆ โดยมีผู้เล่นใหม่ที่มิใช่สถาบันการเงิน อย่างบริษัทเทคโนโลยีได้เข้ามาแข่งขันกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะการเข้ามาเป็นผู้ให้บริการในระบบชำระเงินซึ่งมีรูปแบบของบริการซับซ้อนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับบริการทางการเงินประเภทอื่น
นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินสามารถแยกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินแบบไม่กระทบกิจการธนาคารและสถาบันการเงินแบบเดิม และกลุ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินที่กระทบต่อกิจการธนาคารและสถาบันการเงินแบบเดิม ผลกระทบที่สำคัญจากนวัตกรรมทางการเงินแบบที่ไม่ไปกระทบต่อกิจการธนาคารแบบเดิมจะเพียงผลักดันระบบชำระเงินไปสู่โลกไร้เงินสด (Cashless world) ได้เร็วขึ้นและเพิ่มบทบาทของผู้เล่นใหม่ที่มิใช่สถาบันการเงินซึ่งเข้ามาให้บริการ ณ จุดต่างๆ ของระบบชำระเงิน ทำให้ความไว้วางใจเดิมที่ลูกค้าเคยมีต่อสถาบันการเงินค่อยๆ ถูกเปลี่ยนผ่านไปยังผู้เล่นใหม่เหล่านี้ ย่อมนำไปสู่การลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์และส่วนแบ่งทางการตลาดในอนาคต อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมในกลุ่มนี้ยังไม่ได้ทดแทนหรือทำให้สถาบันการเงินหายไปจากวงจรการชำระเงิน สถาบันการเงินยังคงมีบทบาทอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของการชำระเงิน จึงกระทบต่อกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินแบบเดิมไม่รุนแรง ไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน
ส่วนนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินอีกลุ่มหนึ่งถือเป็น Disruptive innovation นวัตกรรมเหล่านี้เริ่มจากการให้บริการการโอนเงินและชำระเงินระหว่างประเทศ โดยช่วยลดขั้นตอนของการโอนเงินในปัจจุบันที่มีต้นทุนสูงและใช้เวลานานเนื่องจากขั้นตอนมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายในระบบธนาคารพาณิชย์ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีทางการเงินแบบใหม่ทำให้ระบบชำระเงินไม่จำเป็นต้องอาศัยสถาบันการเงินเป็นตัวกลางหรือตัวกลางทางการเงินบางประเภทหายไปจากวงจรการชำระเงิน สิ่งนี้ได้ขยายมายังการจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการด้วยคริปโตฯ ของผู้ประกอบการไทยหลายแห่งจากหลายกิจการ หากแพร่หลายแล้วจะทำให้บทบาทของเงิน (Fiat Money) ที่กำกับดูแลโดยแบงก์ชาติลดความสำคัญอย่างรวดเร็ว และแบงก์ชาติอาจสูญเสียอำนาจในการควบคุมปริมาณเงินในระบบ นโยบายการเงินของแบงก์ชาติจะมีประสิทธิภาพน้อยลง
การออกนโยบายใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (retail CBDC) จัดว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาไว้ซึ่งสมดุลระหว่าง fiat money และสกุลเงินดิจิทัลทางเลือก อันจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่ออธิปไตยทางการเงิน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพและรูปแบบของ public money ให้สอดคล้องกับพัฒนาการของภูมิทัศน์ทางการเงินที่เปลี่ยนไปให้มีโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีทางการเงินที่สามารถรองรับและเชื่อมโยงกับสกุลเงินทางเลือกใหม่ๆ รวมถึงผู้เล่นใหม่ๆ ในระบบเศรษฐกิจการเงินที่จะมาต่อยอดตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัลในวันข้างหน้าได้
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ราคาคริปโตฯ เข้าสู่ขาลงรอบใหม่และผันผวน บิทคอยน์ปรับลง 17% อิโทเรียมปรับลง 16% ภายในวันเดียวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และตลาดหุ้นอาจมีการปรับฐานใหญ่ คริปโตฯ ไม่เหมาะสมเป็นเงินตราดิจิดัล เพราะมีความผันผวนสูง เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนที่ไม่มีเสถียรภาพนัก ไม่สามารถวัดมูลค่าหรือสะสมค่าได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก เป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนได้แต่อาจจะไม่สามารถเป็นเงินตราในการแลกเปลี่ยนเพื่อซื้อสินค้าบริการได้ดีหรือมีประสิทธิภาพ แต่แบงก์ชาติควรปล่อยให้เอกชนตัดสินใจเลือกเองได้ว่า เอกชนหลายใดจะนำคริปโตฯ มาใช้ในการชำระสินค้าและบริการ
ขณะนี้มีหลายบริษัทประกาศให้ลูกค้าชำระค่าสินค้าด้วยคริปโตฯ เช่น กลุ่มอสังหาฯ ทั้ง บมจ.แสนสิริ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ กลุ่มค้าปลีก เช่น เดอะมอลล์ กรุ๊ป" ร่วมมือกับ "Bitkub" "ร้านกาแฟอินทนิล" ของ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น และมีแผนออกเหรียญโทเคนเอง
สิ่งที่แบงก์ชาติต้องดำเนินการ คือ วางระบบบริหารความเสี่ยงในการใช้คริปโตฯ ในการชำระสินค้าและบริการ และเอกชนต้องรับความเสี่ยงจากการดำเนินการดังกล่าวเอง แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้ห้ามให้ทำธุรกรรมดังกล่าวแต่ประกาศไม่สนับสนุนให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากมองว่ามีความผันผวนสูง เสี่ยงที่จะถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า จากประกาศล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สนับสนุนการใช้คริปโตฯ นั้น แม้ไม่ได้เป็นการห้ามทำธุรกรรมแต่น่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกรรมการซื้อสินค้าและบริการผ่านคริปโตฯ อย่างแน่นอน อย่าง JMARTและ BTS จะได้รับผลกระทบจากยอดขายและการใช้บริการในกลุ่มลดลง เพราะมีแผนนำเหรียญ JFin Coin ใช้ชำระสินค้าในกลุ่ม CRC ที่เตรียมเปิดรับเหรียญในการซื้อสินค้าและบริการ กลุ่มอสังหาฯ ORI, ANAN ให้ซื้อบ้านด้วย BTC, ETH และ USDT ประกาศของ ธปท.ส่งผลกระทบเชิงลบต่อบริษัทจดทะเบียนอยู่บ้าง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจประเภท ICO Portal เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคในการออกโทเคน แต่ประกาศอาจมีความจำเป็นต่อการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนสูง เสี่ยงที่จะถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน
ส่วนกลุ่มที่รับชำระค่าสินค้าบริการคาดไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากจำนวนผู้บริโภคที่จะใช้โทเคนซื้อขายสินค้าและบริการยังจำกัดมาก ด้าน SCB อาจได้รับผลกระทบจากธุรกรรมของ Bitkub ที่อาจต่ำกว่าเป้าหมาย ถ้าเป็น Stable Coin แบงก์ชาติควรสนับสนุนมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ ทางแก้ คือ แบงก์ชาติควรเร่งออก "เงินดิจิทัล" เอง เพื่อประชาชนและธุรกิจทั่วไปได้ใช้บริการ
ขณะที่ Mobile money ได้เกิดขึ้นเป็นเรื่องปรกติในสังคมแล้ว การโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ อาจเป็นการโอนเงินระหว่างผู้ใช้บริการภายในเครือข่ายโทรศัพท์ด้วยกันหรือการโอนเงินไปยังผู้รับปลายทางที่อยู่นอกเครือข่ายโดยอาศัยการส่ง SMS และรหัสลับ (PIN) ให้กับผู้รับเงินเพื่อนำไปเบิกเงินกับร้านค้าที่เป็นตัวแทนหรือ ATM ซึ่งพบทั้งในการโอนเงินในประเทศและการโอนเงินระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น M-Pesa ใช้ในอินเดีย หรือ Wing ของกัมพูชา เป็นต้น P2P cross-border money transfer: การโอนเงินระหว่างประเทศผ่านบัญชีผู้ใช้งานซึ่งให้บริการโดย Non-banks ระบบจะตรวจสอบความต้องการโอนเงินในแต่ละประเทศด้วย Algorithm เพื่อจับคู่ความต้องการโอนเงินที่ตรงกัน ซึ่งระบบนี้ก็ใช้กันมาในละตินอเมริกา หรือ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เป็นต้น
เวลานี้เอง Distributed ledger technology (DLT) หรือ เทคโนโลยีการลงบัญชีแบบกระจายตัว หรือ Blockchain การโอนเงินอาจเกิดขึ้นได้โดยอาศัยสัญญาอัจฉริยะ หรือ Smart contract ที่มีเทคโนโลยีนี้เป็นพื้นฐาน ข้อตกลงจะบันทึกไว้ด้วยรหัสคอมพิวเตอร์ให้เกิดการทำตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้อัตโนมัติเมื่อมีเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เช่น การจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาอัตโนมัติ และไม่จำเป็นต้องอาศัยตัวกลางทางการเงินที่เป็นธนาคารตัวแทนต่างประเทศ หรือเครือข่าย SWIFT เหมือนการโอนเงินรูปแบบเดิม
กลุ่มนวัตกรรมการเงินที่กล่าวมาข้างต้นเป็น Disruptive innovation ที่จะกระทบระบบการชำระเงินและระบบธนาคารแบบดั้งเดิมมาก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ ระดับที่หนึ่ง การเสริมบริการชำระเงินของสถาบันการเงิน ปัจจุบันบริการโอนเงินผ่านมือถือ และการโอนเงินบุคคลต่อบุคคลโดยไม่ผ่านตัวกลางทางการเงินได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของบริการทางการเงินในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากและทำให้เกิดบริการการเงินที่ทั่วถึงมากขึ้นซึ่งช่วยเสริมบริการทางการเงินและทดแทนบริการของธนาคารพาณิชย์ในเวลาเดียวกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ อัตราการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี เช่น อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ อย่างไรก็ดี สำหรับพื้นที่หรือประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินพร้อมและพัฒนาเป็นอย่างดี การชำระเงินผ่านสถาบันการเงินยังคงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภค
ระดับที่สอง การทดแทนบริการทางการเงินหลักของสถาบันการเงิน เทคโนโลยีการลงบัญชีแบบกระจายตัว หรือ Distributed ledger มีศักยภาพในการทดแทนการโอนเงินระหว่างประเทศในรูปแบบเดิมจากคุณสมบัติเฉพาะหลายประการ โปร่งใส ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ลดขั้นตอนและรวดเร็วกว่า อย่างไรก็ตาม การพัฒนา Distributed ledger เพื่อใช้ในระบบการชำระเงินขนาดใหญ่ที่มีปริมาณธุรกรรมจำนวนมากและเชื่อมโยงธุรกรรมระหว่างประเทศทั่วโลกทดแทนระบบชำระเงินผ่านสถาบันการเงินแบบเดิมต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-10 ปี ในเวลานี้ สถาบันการเงินที่มีรายได้จากการโอนเงินระหว่างประเทศต้องรีบเร่งในการปรับตัวหารายได้อย่างอื่นมาทดแทน Distributed ledger จะเพิ่มผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจบริการการเงิน
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ควรวิตกกังวลผลกระทบของเทคโนโลยีทางการเงินและคริปโตฯ มากเกินไปจนกระทั่งไปออกระเบียบหรือมาตรการใดๆ ที่ไปชะลอหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบการชำระเงินหรือระบบการเงินภายใต้เทคโนโลยีแบบใหม่ และเข้าใจว่า ธนาคารกลางของทุกประเทศ รวมทั้งแบงก์ชาตินั้นมีหน้าที่ให้เกิดระบบการเงินและระบบการชำระเงินที่มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ แต่ความมั่นคงและเสถียรภาพอย่างแท้จริงนั้นต้องเกิดจากการปรับตัวของระบบธนาคารและสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมที่เกิดขึ้นมาในศตวรรษที่ 17 ภายใต้พลวัตของเทคโนโลยีทางการเงินในศตวรรษที่ 21 ด้วยการรักษาความสมดุลระหว่างการส่งเสริมให้เกิดการใช้ระบบการเงินและระบบชำระเงินด้วย
เทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ รวมทั้งการใช้คริปโตฯ กับการประคับประคองระบบการเงินและสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมให้สามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อไม่ให้เกิดการความเสี่ยงในเชิงระบบ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ คือ การระมัดระวังไม่ให้เกิดการลุกลามของปัญหาการล้มละลายและการขาดสภาพคล่องของธุรกิจอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยสู่ภาคการเงินอื่นๆ และรัฐบาลและธนาคารกลาง ควรประสานให้ คปภ มีแนวทางและมาตรการชัดเจนในการทำให้ผู้ประกอบการประกันภัยที่มีฐานะการเงินอ่อนแอสามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องเฉพาะหน้า และปรับเปลี่ยนกฎระเบียบบางประการเพื่อให้กิจการประกันภัยสามารถประคับประคองสถานการณ์ความเสี่ยงเชิงระบบจากวิกฤติโควิด
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า อนาคตธุรกิจการเงินการธนาคารไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จะมีการขยายพรมแดนทางธุรกิจออกไป พลวัตนี้ส่งผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดการเงิน อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินและธนาคารแบบดั้งเดิมที่ไม่ปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคย่อมมีสภาพไม่ต่างจากความล่มสลายลงของกิจการทางด้านบริการอื่นๆแบบดั้งเดิม เช่น ธุรกิจสื่อสารมวลชนแบบดั้งเดิม ธุรกิจโทรคมนาคมดั้งเดิม เป็นต้น ธุรกิจการให้บริการการเงินของธนาคารแบบดั้งเดิม Traditional Banking Service จะลดบทบาทลงอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์หากไม่มีแรงต้านต่อการเปลี่ยนแปลงจากกฎระเบียบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มธนาคารแบบดั้งเดิม ขณะที่การให้บริการการเงินและปล่อยสินเชื่อแบบดิจิทัล (Digital Financial Service) และธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม การลงทุนและการบริการทางด้านเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีบล็อกเชน จะเป็นอนาคตของกลุ่มธุรกิจการเงิน