ฟิทช์ เรทติ้งส์ เปิดเผยว่า โรงกลั่นน้ำมันญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากความต้องการที่สูงขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะความต้องการในประเทศจีน ที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันของญี่ปุ่นผลิตน้ำมันไม่มากนักเนื่องจากความต้องการภายในประเทศที่ตกลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม โรงงานเหล่านี้อยู่ในสถานะที่ดีในด้านภูมิศาสตร์ที่จะตอบสนองกับความสามารถในการผลิตปิโตรเลียมกลั่นของจีนที่มีไม่เพียงพอ
ฟิทช์ชี้ว่า การลงทุนในโรงกลั่นน้ำมันท้องถิ่นจากต่างประเทศเมื่อเร็วๆนี้บ่งชี้ว่า สินทรัพย์เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวและน่าดึงดูดมากขึ้น แม้ว่าแนวโน้มในตลาดภายในประเทศจะอยู่ในช่วงขาลงก็ตาม
สำนักข่าวธอมสันไฟแนนเชียลรายงานว่า ฟิทช์ชี้ว่า ต่อไปจีนจะต้องนำเข้าปิโตรเลียมกลั่นจากญี่ปุ่นเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ แม้ว่าความสามารถในการกลั่นภายในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10% เป็น 7.735 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ฟิทช์รายงานต่อไปว่า แม้ว่าโรงกลั่น 19 แห่งจะถูกปิดทำการไปเมื่อปี 2518 แต่อุตสาหกรรมปิโตรเลียมก็ยังคงมีอัตราการผลิตในระดับต่ำ โดยเฉลี่ยที่ 83% ในปี 2549 ลดลงจากระดับ 87% ในปี 2548
ฟิทช์มองว่า อัตราการใช้ประโยชน์ในฐานะเป็นมาตรวัดประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมการกลั่น ในอีกมุมหนึ่งนั้น สำนักงานพลังงานสากลคาดว่า ความต้องการน้ำมันของจีนจะแตะระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2558 ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันของญี่ปุ่นกำหนดจุดยืนของตนเองไว้รองรับโอกาสที่การส่งออกมากขึ้น แนวโน้มของโรงกลั่นญี่ปุ่นจึงเริ่มพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--