ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการจำกัดการให้บริการร้านอาหาร และนโยบายการให้พนักงานทำงานที่พัก (Work from Home) พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความคุ้นชินกับการใช้แอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พัก และมาตรการคนละครึ่งของภาครัฐ ทำให้มูลค่าตลาดของการสั่งอาหารไปส่งยังที่พัก (ฟู้ดดิลิเวอรี่) ในปี 64 เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 63 ถึงกว่า 46.4%
โดยแนวโน้มฟู้ดดิลิเวอรี่ในปี 65 ยังเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนด้านความต้องการของผู้ใช้บริการท่ามกลางการทำงานแบบ Hybrid Work กลยุทธ์การปรับตัวของผู้ประกอบการในการขยายฐานรายได้ในพื้นที่ใหม่ และฐานลูกค้าสะสมของผู้ใช้บริการทั้งฝั่งผู้บริโภคและร้านอาหารเร่งตัวขึ้นจากผลของโควิดที่ระบาดรุนแรง แต่การเพิ่มขึ้นน่าจะชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 64
ทิศทางตลาดของฟู้ดดิลิเวอรี่ปี 65 คาดว่าจะปรับขึ้นจากการที่ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พักจัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดต่อเนื่อง พร้อมขยายฐานร้านค้าและกลุ่มลูกค้าใหม่ไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น และความคุ้นชินของผู้บริโภค
แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศจะคลี่คลายและภาครัฐเปิดให้มีการทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 64 แต่การพบผู้ติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนในหลายประเทศทั่วโลกสร้างความกังวลรอบใหม่ต่อความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดอีกครั้ง
"ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้บริโภคยังมีความเปราะบางด้านกำลังซื้อและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้เร็ว ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงจากจำนวนผู้ประกอบการที่มีมากราย ผู้ประกอบการร้านอาหารยังจำเป็นต้องพึ่งพาช่องทางฟู้ดดิลิเวอรี่ โดยเน้นไปที่เมนูอาหารที่ชูความคุ้มค่าด้านราคาและคุณภาพ มีเอกลักษณ์ที่หาทานที่อื่นได้ยาก เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็ยังจำเป็นต้องบริหารจัดการต้นทุนทั้งวัตถุดิบ แรงงาน ครัวกลาง ช่องทางการขาย อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความต่อเนื่องของกระแสเงินสดและมีส่วนต่างกำไรหล่อเลี้ยงกิจการอย่างสม่ำเสมอ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เกิดการระบาดที่รุนแรงของโควิดในประเทศอีกในปี 65 การดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันของประชาชนน่าจะเดินหน้าได้ต่อเนื่อง และเป็นแรงหนุนต่อธุรกิจร้านอาหารที่น่าจะกลับมาดำเนินธุรกิจได้เมื่อเทียบกับในปี 64 โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจร้านอาหารให้บริการเต็มรูปแบบ (Full-Service Restaurants) เช่น สวนอาหาร บุฟเฟ่ต์ เป็นต้น จากการที่ผู้บริโภคมีออกไปใช้บริการนั่งทานในร้านอาหารที่น่าจะเพิ่มขึ้น แต่หากมองในอีกมุมของธุรกิจนั้น สถานการณ์ดังกล่าวก็อาจจะสร้างความท้าทายต่อตลาดฟู้ดดิลิเวอรี่
โดยปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางตลาดฟู้ดดิลิเวอรี่ในปี 65 คือ Hybrid Work และความคุ้นชิน ประกอบกับการกระตุ้นตลาดโดยใช้โปรโมชั่นของผู้ประกอบการจะทำให้ลูกค้าผู้ใช้บริการที่เคยใช้อยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน Gen Y และกลุ่มวัยรุ่น Gen Z ยังคงใช้บริการต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในกลุ่ม Fast Food ให้ความสำคัญกับการทำตลาดฟู้ดดิลิเวอรี่ การปรับรูปแบบธุรกิจร้านอาหารมายัง Cloud kitchen และ Ghost kitchen ของผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ที่เน้นเจาะไปยังชุมชน ชานเมืองและในต่างจังหวัด เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ได้มากขึ้น ก็น่าจะช่วยเพิ่มฐานผู้ใช้ทั้งฝั่งผู้บริโภคและร้านอาหารที่มีคุณภาพให้เข้ามาในระบบมากขึ้น
โดยในไตรมาส 2 ของปี 64 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดกลับมาระบาดรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจสมัครใช้บริการแอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พักเร่งตัวขึ้นกว่า 60.9% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะเดียวกันทางฝั่งของผู้บริโภค ดัชนีจำนวนผู้ลงทะเบียนสะสมในเดือน ก.ย.64 เพิ่มขึ้นกว่า 110% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.63 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของโควิดในประเทศ ขณะที่ในระยะข้างหน้าการขยายพื้นที่การทำตลาดของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารและการทำโปรโมชั่นด้านการตลาดอย่างต่อเนื่องน่าจะผลักดันให้ดัชนีจำนวนครั้งในการสั่งอาหารของผู้บริโภคในปี 65 จะอยู่ที่ 477 (ฐาน 100 ที่ปี 2561) เพิ่มขึ้น 2.9% ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 64 สำหรับราคาหรือยอดสั่งอาหารต่อครั้งในปี 65 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกันแต่ในอัตราที่จำกัด ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และกำลังซื้อของครัวเรือนที่เปราะบาง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 65 ยอดสั่งซื้อต่อครั้งน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 193 บาท เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 190 บาท โดยการเพิ่มขึ้นเป็นผลหลักจากการปรับตัวขึ้นของต้นทุนของร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนวัตถุดิบอาหาร ต้นทุนแรงงาน และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโควิดที่ยังมีต่อเนื่อง ขณะที่ประเภทอาหารที่ผู้บริโภคนิยมสั่งอาจจะยังคงเป็นกลุ่มที่ตอบโจทย์ด้านความคุ้มค่า ความสะดวก และรสชาติที่แตกต่าง ข้อมูล LINE MAN Wongnai พบว่า ในช่วงปี 64 อาหารยอดนิยม ได้แก่ ร้านเบเกอรี่และเครื่องดื่ม (เช่น กาแฟ ชานมและน้ำผลไม้) อาหารตามสั่ง อาหารอีสาน เป็นต้น
ขณะที่ความหลากหลายและจำนวนร้านอาหารสะสมที่เข้าร่วมในแพลตฟอร์มที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการรุกขยายไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม จากเดิมที่ก็สูงอยู่แล้ว ทำให้การแข่งขันในตลาดยังมีความรุนแรง และการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดหรือโปรโมชั่นจะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ก็อาจเป็นแรงกดดันที่ทำให้ราคาอาหารน่าจะปรับขึ้นได้จำกัด ทิศทางการขยายตัวของมูลค่าตลาดการสั่งอาหารยังที่พักในปี 65 คาดว่าจะอยู่ในอัตราที่ชะลอลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาดการสั่งอาหารยังที่พักในปี 65 (ฐานคำนวณใหม่ รวมร้านอาหาร เบเกอรี่และเครื่องดื่ม) จะมีมูลค่าประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 4.5% ชะลอลงจากฐานที่เร่งตัวสูงในปี 64 อย่างไรก็ดี ในกรณีที่โอมิครอนมีการระบาดรุนแรง ตลาดการจัดส่งอาหารไปยังที่พักน่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นกว่าคาด
โดยกลุ่มร้านอาหารที่มีโอกาสเติบโตได้มากกว่าภาพรวม ได้แก่ ร้านอาหาร Limited Service (เช่น เบอร์เกอร์ พิซซ่า ไก่ทอด เป็นต้น) และ Street food ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พักให้ความสำคัญในการทำการตลาดและขยายพอร์ทร้านอาหารบนแพลตฟอร์มของตน ขณะที่กลุ่มร้านอาหารเต็มรูปแบบ และกลุ่มร้านเครื่องดื่ม เบเกอรี่ อาจเป็นกลุ่มที่ชะลอลง ภายใต้เงื่อนไขที่โควิดยังอยู่แต่ไม่รุนแรง ทำให้ประชาชนบางส่วนออกไปทานนอกบ้านมากขึ้น และบางกิจการทยอยให้พนักงานกลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศ อย่างไรก็ตาม รายได้สุทธิของแต่ละร้านอาหารคงขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะของแต่ละราย