ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน พ.ย.64 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 44.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 43.9 ในเดือนต.ค. 64 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 38.8, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ระดับ 41.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 54.5
โดยมีปัจจัยบวก คือ 1. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อรองรับการเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย.64 เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ (ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ) เข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัว 2. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 3/2564 3. การฉีดวัคซีนของทั้งโลกทำให้สถานการณ์โควิดระดับโลกปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการฉีดวัคซีนในประเทศที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
4. ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งโครงการเราชนะ, ม.33 เรารักกัน, คนละครึ่ง เฟส 3, ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น 5. การส่งออกไทยเดือน ต.ค.64 ขยายตัวได้ 17.35% ที่มูลค่า 22,738 ล้านดอลลาร์ 6. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน, ยางพารา และมันสำปะหลัง 7.ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง
ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ 1.ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน" ที่แพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศ 2. ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัด ทั้งพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ 3.ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ตลอดจนค่าครองชีพและราคาสินค่ายังทรงตัวในระดับสูง 4. ข้าวมีราคาต่ำ ส่งผลให้เกษตรมีรายได้ไม่สูง และกระทบต่อกำลังซื้อของหลายจังหวัด
5. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDP ไตรมาส 3/64 ติดลบ 0.3% และคาดว่า GDP ทั้งปี 64 จะขยายตัวได้ 1.2% ส่วนแนวโน้ม GDP ปี 65 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5-4.5% 6. ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง ที่อาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนอดีตที่ผ่านมา
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.64 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่ พ.ค.64 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันและผู้เสียชีวิตรายวันในประเทศเริ่มมีแนวโน้มลดลง
ประกอบกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงการคลายล็อกดาวน์ และการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มมีการจับจ่ายใช้สอย และท่องเที่ยวมากขึ้นในปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในไตรมาสที่ 4 ปีนี้เป็นต้นไป และน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้สามารถขยายตัวได้ในระดับ 1-1.5%