ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจพิจารณาปรับแผนลดวงเงิน QE ในอัตราที่เร่งขึ้นกว่าเดิม และมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่เคยส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้า ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปีที่ 6.8% YoY ซึ่งท่ามกลางปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานและปัญหาขาดแคลนแรงงานในสหรัฐฯ ที่ไม่น่าจะคลี่คลายลงในระยะเวลาอันใกล้ ทำให้มองว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะข้างหน้า ในขณะที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก็มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์ก่อนหน้า (28 พ.ย.-4 ธ.ค.) ยอดขอสวัสดิการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 52 ปี โดยอยู่ที่ 1.84 แสนราย แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าอย่างมากของการฟื้นตัวในตลาดแรงงานสหรัฐฯ
ดังนั้น จากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ คาดว่าเฟดคงเผชิญแรงกดดันให้ถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินเป็นแบบตึงตัวเร็วกว่าขึ้นกว่าเดิม โดยเฟดอาจพิจารณาปรับแผนลดวงเงิน QE ในอัตราที่เร่งขึ้นเพื่อให้วงเงิน QE ทั้งหมดสิ้นสุดลงเร็วกว่าเดือนมิ.ย. 66 ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้า อีกทั้งเฟดอาจเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่เคยส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้า โดยมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วสุดในช่วงกลางปี 65 หากแรงกดดันเงินเฟ้อยังคงเร่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวได้แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลกระทบต่อไทย เนื่องจากตลาดมีการคาดการณ์การเร่งลดวงเงิน QE ไปแล้ว ดังนั้น หากเฟดมีการประกาศลด QE ในอัตราที่เร่งขึ้นในการประชุมนโยบายการเงินที่จะถึงนี้ คาดว่าผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน ตลอดจนผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนจะมีจำกัด อย่างไรก็ดี จุดสนใจในการประชุมครั้งนี้คงอยู่ที่ประมาณการเงินเฟ้อและ Fed Dot Plot ซึ่งหากเฟดมีการส่งสัญญาณทิศทางที่แข็งกร้าว (Hawkish) กว่าที่ตลาดคาด อาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีทิศทางแข็งค่าขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจมีทิศทางอ่อนค่าลงได้ในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ต้องติดตามประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ย นโยบาย (Fed Dot Plot) ที่เฟดจะเผยแพร่ในการประชุมวันที่ 14-15 ธ.ค. นี้ ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับประมาณการเงินเฟ้อสูงขึ้นให้สอดคล้องกับภาวะที่เกิดขึ้น
ประกอบกับมีความเป็นไปได้ที่ Fed Dot Plot จะบ่งชี้การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าการแถลงประมาณการครั้งก่อนในเดือนก.ย. 2564 โดยอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 2 ครั้งในปีหน้า อย่างไรก็ดี เฟดมีแนวโน้มที่จะยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังและคงไม่ปรับประมาณการเงินเฟ้อสูงกว่าที่ควร เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะส่งสัญญาณการปรับทิศทางนโยบายการเงินเป็นแบบตึงตัวเร็วกว่าที่ตลาดคาดอันจะก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินได้
อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าเฟดคงจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่อาจมีเพิ่มเติมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มที่จะชะลอลง ประกอบกับความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐที่กลับมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นอีกครั้งจากประเด็นไต้หวัน
ดังนั้น เฟดคงต้องประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ ในการพิจารณาจังหวะที่เหมาะสมในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า โดยหากเฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ควรนอกจากจะสร้างความผันผวนมากขึ้นในตลาดเงินตลาดทุนแล้ว ยังอาจยิ่งบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่ได้หมดไป
อีกทั้งยังไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาขีดจำกัดในฝั่งอุปทาน อาทิ การขาดแคลนแรงงานและความแออัดในท่าเรือของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนอกจากจะเพิ่มต้นทุนทางการเงินให้สูงขึ้น ยังไม่ได้ช่วยสนับสนุนให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นเพื่อมาแก้ไขปัญหาขีดจำกัดในฝั่งอุปทาน