ดีป้าหนุนเอกชนนำดิจิทัลประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจอุตฯ เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 14, 2021 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลมีพันธกิจที่สำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล พัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศผ่านกลไกต่างๆ เช่น ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมมือกับบุคคลอื่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือนวัตกรรมดิจิทัล เป็นต้น

ทั้งนี้ การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนในหลายๆ ด้าน โดยได้สนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ

1.มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรม(depa Digital Transformation Fund) ในปี 2561-2564 ให้การสนับสนุนทั้งสิ้น 228 โครงการ วงเงิน 98 ล้านบาท เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ 1,254 ล้านบาท

2.มาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa mini Transformation Voucher) ในปี 2561-2564 ให้การสนับสนุนทั้งสิ้น 10,225 ราย วงเงิน 120 ล้านบาท เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ 24 ล้านบาท

3.มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community) ในปี 2561-2564 ให้การสนับสนุนทั้งสิ้น 256 โครงการ วงเงิน 44 ล้านบาท เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ 465 ล้านบาท

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และ ดีป้า ได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับมาตรฐาน ISO/IEC 29110 ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อสร้างผู้ประกอบการคุณภาพในอุตสาหกรรมตามเกณฑ์มาตรฐานสากล โดยมีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 140 ราย หลังพิจารณาคัดเลือกและดำเนินการตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค.64 แล้วมีผู้ประกอบการคุณภาพที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 29110 จำนวนทั้งสิ้น 125 ราย แบ่งเป็น ภาคกลาง กรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 101 ราย, ภาคเหนือ จำนวน 12 ราย, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ราย และภาคใต้ จำนวน 6 ราย

สำหรับมาตรฐาน ISO/IEC 29110 เป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์สำคัญสำหรับการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Provider) เพื่อสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมผ่านมาตรการต่างๆ ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เพื่อให้ SMEs ที่มีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จากผู้ประกอบการที่ได้รับการขึ้นทะเบียน สามารถขอใช้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (Tax 200%)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ