ภาครัฐ-เอกชน เปิดตัวแพลตฟอร์ม Digital Supplychain Finance ช่วย SME เข้าถึงสินเชื่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 15, 2021 13:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการเปิดตัวบริการ Digital Supplychain Finance ว่า ในยุคที่โลกเศรษฐกิจและการเงินต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากกระแสดิจิทัล ธปท. ได้เร่งส่งเสริมและผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้พัฒนาประสิทธิภาพบริการทางการเงินให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน และส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินในหลากหลายรูปแบบ

ตัวอย่างที่สำคัญ คือ การพัฒนาระบบพร้อมเพย์ ภายใต้โครงการ National e-Payment ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการชำระเงินดิจิทัล ซึ่งส่งผลให้การโอนเงินและชำระเงินของคนไทยเป็นเรื่องง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีต้นทุนที่ถูกลง สามารถต่อยอดบริการได้หลากหลายและเพิ่มประโยชน์ในวงกว้าง เช่น การใช้ QR code เพื่อชำระเงิน ระบบพร้อมเพย์ จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนของการชำระเงินของคนไทย และเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันการชำระเงินดิจิทัลให้เป็นทางเลือกหลัก สะท้อนจากการเติบโตที่รวดเร็วของการชำระเงินดิจิทัล ทั้งในเชิงจำนวนและมูลค่าของการใช้งาน โดยเฉพาะการทำธุรกรรมผ่าน mobile banking ที่ถูกจัดอยู่ในอันดับ 1 ของโลก

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า สำหรับโครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ ภาคธนาคาร และภาคธุรกิจ ในการเชื่อมโยงข้อมูลการค้าและการชำระเงินของภาคธุรกิจ เข้ากับข้อมูลผู้ให้บริการทางการเงินและระบบภาษีของภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาของการทำธุรกิจแบบเดิม ที่ผู้ประกอบการต้องนำส่งเอกสารทางการค้าในรูปแบบกระดาษให้กับคู่ค้า ต้องตรวจสอบการชำระเงินแยกตามรายการ รวมไปถึงต้องนำส่งและจัดเก็บเอกสารทางภาษี ซึ่งจะมีทั้งต้นทุนการบริหารจัดการเอกสาร และต้นทุนเวลา เพื่อตรวจสอบความถูกต้องในทุกขั้นตอน

โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business นี้ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจ ที่จะนำกระบวนการทั้งหมดเข้าสู่ระบบดิจิทัล ช่วยลดต้นทุน ลดข้อผิดพลาด การตรวจสอบทำได้ง่าย และจะทำให้ได้รับเงินเร็วขึ้น รวมทั้งธุรกิจสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้สนับสนุนการขอสินเชื่อหมุนเวียนได้ด้วย

ทั้งนี้ โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business นี้ ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรก คือ บริการด้านการค้าและการชำระเงิน ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการเชื่อมข้อมูลข้างต้นอย่างครบวงจร และส่วนที่สอง ที่จะเริ่มเปิดให้บริการได้ในวันนี้ คือ บริการด้านสินเชื่อ หรือDigital Supplychain Finance ที่จะนำข้อมูลจากบริการด้านการค้าและการชำระเงิน มาใช้ในการตรวจสอบเอกสารสำหรับการให้สินเชื่อ ซึ่งด้วยระบบเชื่อมโยงข้อมูลที่ไม่ซับซ้อน จึงสามารถเปิดใช้บริการนี้ได้ก่อนในการให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด19

"หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บริการ Digital Supply chain Finance จะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs ให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ และพร้อมปรับตัวสู่โลกใหม่ ซึ่งถ้าจะเปรียบพร้อมเพย์ เป็น game changer ที่ช่วยผลักดันการชำระเงินดิจิทัลของภาคประชาชน โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business ที่มีบริการ Digital Supplychain Finance เป็นองค์ประกอบ ก็จะสามารถเป็น game changer ที่จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กระแสดิจิทัลได้ดีเช่นกัน" ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า บริการ Digital Supplychain Finance ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการช่วยเหลือภาคธุรกิจ SMEs ให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 65 เนื่องจากแพลตฟอร์มดังกล่าว จะทำให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกขึ้น ช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา

"หวังว่า platform นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้น และ key driver ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 65 เพราะดิจิทัล เทคโนโลยี มีความรวดเร็ว สะดวกสบาย และมีความแม่นยำสูง" รมว.คลังกล่าว

พร้อมระบุว่า ในอนาคตคาดหวังว่า platform นี้จะขยายไปสู่ตลาดผู้ซื้อที่ใหญ่ขึ้น เช่น ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งขยายไปยังธนาคารพาณิชย์รายอื่นๆ ให้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้มีทางเลือกในการใช้บริการได้มากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้น กรมบัญชีกลาง ได้มีการปลดล็อกเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้มากขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ได้พยายามช่วยลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของ SMEs เช่น กฎระเบียบ ขั้นตอนต่างๆ เพื่อช่วยคลายล็อกให้ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเติบโต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ