นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงาน OIE Forum ปี 2564 หัวข้อ "Thailand Industry Beyond Next Normal : อุตสาหกรรมไทยก้าวไกล สู่ยุคใหม่ที่ยั่งยืน" ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยยังอยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคการผลิต การจำหน่าย และการส่งออก ขณะเดียวกันการดำเนินชีวิตของทุกคนทั่วโลกต้องปรับตัวเพื่อก้าวสู่วิถีต่อไปในการดำรงชีวิต (Next Normal) เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม ที่มีการปรับสายการผลิตสู่ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ เพื่อทดแทนการใช้แรงงาน อีกทั้งการเกิดโอกาสใหม่ในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น
ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเพื่อรองรับสถานการณ์ รวมถึงมาตรการสำคัญต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างเร่งด่วน โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางของกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งกำหนดประเด็นในการสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยปรับทิศทางภาคการผลิตจากเดิม ส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ พร้อมมุ่งเน้นอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เพื่อตอบรับทิศทางการพัฒนาของตลาดยานยนต์โลก รวมทั้งการไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และแก้ไขปัญหามลพิษ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 เพื่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สะท้อนจากการตั้งเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า Zero Emission Vehicles หรือ ZEV จำนวน 725,000 คันต่อปี หรือ 30% ของการผลิตรถยนต์ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) โดยมีมาตรการที่สำคัญ อาทิ จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าใน ปี 2564 จะประกาศมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และมาตรฐานการประจุไฟฟ้าได้รวม 97 มาตรฐาน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เป็นอุตสาหกรรมศักยภาพที่มีความสำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคง ด้านสาธารณสุขของประเทศ สอดคล้องกับแผนการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub อีกทั้งตอบสนองนโยบาย BCG Model โดยมุ่งเป้าหมายระยะยาวให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียนภายในปี 2570
ด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียน โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2569 ขับเคลื่อนผ่าน3 กลไกหลัก คือ การกระตุ้นและส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ การพัฒนาผู้ผลิตเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ พัฒนา System Integrator (SI) ในประเทศ และการจัดตั้ง Center of Robotic Excellence หรือ CoRE เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ กำหนดเป้าหมายผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 เน้นให้เกิดการลงทุนในผลิตภัณฑ์เป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยการยกระดับสถานประกอบการสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy รวมไปถึงการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ตลอดจนวิธีการกำกับดูแลสถานประกอบการที่สะท้อนแนวคิดตาม Bio-Circular-Green Economy : BCG Model เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาในทิศทางที่สมดุล
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 อาจเป็นโอกาสให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น เครื่องมือแพทย์ ยา และวัคซีน แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่จะเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เช่น การผลิตสินค้าเพื่อรองรับก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การผลิตสื่อบันเทิง ซึ่งอยากให้มีมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กล่าวว่า ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตย่อมมีคนทั้งได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ แต่ก่อนอื่นอยากให้มองบวกจะช่วยให้เห็นโอกาส ในส่วนของอุตสาหกรรมพลังงานน่าจะเป็นโอกาสของพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเรื่องปัญหาโลกร้อน และหลังวิกฤตโควิด-19 รุปแบบการทำงานในเมืองที่แออัดน่าจะเปลี่ยนไป เพราะเทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยให้การทำงานบางอย่างไม่จำเป็นต้องเดินทางมาออฟฟิศ ขณะที่ทิศทางของอุตสาหกรรมจะเป็นไปในรูปแบบ BCG มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว
"ผมมองวิกฤตทุกครั้งคือความท้าทาย และจะมีตามมาเรื่อยๆ แต่การแก้ปัญหาอยู่ที่ mind set ขอให้คิดบวกไว้ก่อน" นายสมโภชน์ กล่าว
สำหรับวิกฤตครั้งนี้ ตนเองเห็นว่ารัฐบาลมีความพร้อมมากสุดในการรับมือ แต่ขณะนี้เหมือนเดินทางมาถึงทางสองแพร่ง ดังนั้นจำเป็นต้องวางแนวทางการแก้ปัญหาให้ดี เพราะจะชี้ถึงอนาคต
นายสุรชา อุดมศักดิ์ Chief Technology Officer - Innovation and Technology ธุรกิจเคมิคอลส์ เป็น Vice President ธุรกิจเคมิคอลส์ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) กล่าวว่า บริษัทฯ มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้สามารถบริหารงานบุคคลได้ไม่ติดขัด แต่ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับพฤติกรรมองค์กร สิ่งสำคัญที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงคือการมีพันธมิตร ซึ่งจะข่วยให้ภารกิจลุล่วงไปได้ด้วยดี ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนที่มีปัญหาก็ต้องหาแนวทางต่อยอดเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้
นายสุพจน์ เกตุโตปราการ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า วิถีชีวิตหลังจากนี้ไปคงตระหนักถึงเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะมีการจัดเก็บภาษีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น ปริมาณคาร์บอนที่มาจากกระบวนการผลิต ซึ่งจะต้องมีการคัดเลือกตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต ไปจนถึงการจัดการดูแลผลิตภัณฑ์หลังใช้งานแล้ว และจะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังผู้ประกอบการรายย่อย