นายพสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวเปิดงานเสวนาออนไลน์ "A Better World in the Next Normal" ว่า EXIM BANK พร้อมสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs ให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เนื่องจากความยั่งยืนเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาคนและโลกในอนาคต ทั้งในแง่มุมของทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรทางสังคม ภาคธุรกิจจึงต้องให้ความใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการเติบโตของธุรกิจด้วย
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ทางรอดของธุรกิจในโลกยุค Next Normal ที่ทั่วโลกต้องเผชิญความท้าทาย คือ การเชื่อมโยงธุรกิจและผลิตสินค้าที่สร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และการดูแลรักษาสุขภาพของประชากรโลก (More Green, More Digital และ More Health)
อาทิ การดำเนินธุรกิจที่ลดการปล่อยมลพิษ การใช้แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์เป็นช่องทางส่งออกสินค้า ซึ่งคาดว่าภายในปี 68 ประชากรของโลกจะซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนสูงถึง 60% และการบริโภคสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารออร์แกนิก (Organic Food) อาหารจากพืชผัก (Plant-based Food) และอาหารฟังก์ชัน (Functional Food) ที่มีสารประกอบในอาหารทำหน้าที่พิเศษกว่าการให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้น 10-15% ต่อปี ภายในปี 70 ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด
ขณะที่รัฐบาลในหลายประเทศเริ่มกำหนดกฎระเบียบ และมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ ที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวทางธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับกฎระเบียบ มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ และความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่
นายรักษ์ กล่าวว่า "สมการธุรกิจโตยั่งยืน" จะเป็นสูตรสำเร็จที่ช่วยให้ธุรกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 ตัวแปร ได้แก่
1. การสร้างโมเดลธุรกิจโตยั่งยืน (Sustainable Business Model) โดยคำนึงถึง 3P คือ People นึกถึงลูกค้า พร้อมใส่ใจพนักงาน ด้วย Customer Centricity เข้าใจและยึดลูกค้าเป็นที่ตั้ง Work With Smile สร้างบรรยากาศให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน, Planet รักษ์โลก ใส่ใจสังคมและชุมชน สอดรับแนวคิด ESG และ Profit ผลกำไรที่ยั่งยืน ยืนหนึ่งในใจผู้บริโภคยุคใหม่ ธุรกิจโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ไปพร้อมกับธุรกิจและชุมชน (Inclusive Growth)
2. การดำเนินธุรกิจที่สอดรับกับเทรนด์แห่งอนาคต (Future Trends) โดยการประยุกต์เทรนด์ GDH เข้ากับสินค้า บริการ และกระบวนการผลิต หรือแตกไลน์ธุรกิจใหม่ เพื่อตอบสนองเทรนด์ดังกล่าว โดย Green คือ กระแสผู้บริโภครักษ์โลก ประกอบกับหลายประเทศบังคับใช้มาตรการสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวตาม, Digital คือ วิถีใหม่ของการดำเนินชีวิต ที่เข้ามามีส่วนในการดำเนินชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน ทั้งทางตรงและทางอ้อม และ Health คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 จุดกระแสการป้องกัน และรักษาสุขอนามัย ผนวกกับกระแสดูแลสุขภาพ ทำให้ความต้องการสินค้า และบริการเชิงสุขภาพโตแบบก้าวกระโดด
3. พันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ EXIM BANK และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ที่จะช่วยเติมเต็มช่องว่างทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยได้อย่างครบวงจร โดย EXIM BANK มีบริการที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการปรับธุรกิจเพื่อเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านสินเชื่อ อาทิ EXIM Biz Transformation Loan สนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนเพิ่มเพื่อยกระดับประสิทธิภาพและกระบวนการผลิต ขยายกำลังการผลิต รวมทั้งปรับปรุงซอฟต์แวร์ดิจิทัล อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 100 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อ EEC และเครือข่ายนิคมอุตสาหกรรม
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในพื้นที่ EEC (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง) รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรม หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3% ต่อปี ผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี และบริการอื่นๆ เช่น เครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และการอบรมให้ความรู้ด้านการส่งออก และการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน นอกจากนี้ EXIM BANK ยังพร้อมสนับสนุนการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจให้แข็งแรง เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับตัวทางธุรกิจให้ทันกระแสโลกการค้ายุคใหม่
ทั้งนี้ ในยุค Next Normal การปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนไม่ได้เป็นทางเลือก แต่เป็นทางรอดของทุกธุรกิจ โดย EXIM BANK พร้อมร่วมมือกับพันธมิตร รวมถึงลูกค้าผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการปรับตัวได้เร็ว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ให้เข้าสู่ Supply Chain ของการส่งออกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยมาตรฐานการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยตอบสนองกับกระแสโลกยุคใหม่ และเติมเต็มการพัฒนาของโลกอย่างยั่งยืน
"ขณะนี้ประชากรในโลกอนาคตเริ่มออกมาส่งเสียงมากขึ้น ทั้งการเปลี่ยนมาใช้ทรัพยากรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การบริหารโลจิสติกส์ที่ต้องรวดเร็ว ตอบรับการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ และการใช้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ประกอบกับกระแสการดูแลสุขภาพ และความงาม ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องมีการปรับตัว มองเทรนด์อนาคต พร้อมคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวมากขึ้น" นายรักษ์ กล่าว
ด้านนายอังศุธรย์ วสุสัณห์ รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และชักชวนนักลงทุน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EECO) กล่าวถึงแนวทางส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายรองรับกระแสโลกใหม่ว่า หลังวิกฤติโควิด ได้เกิดเทรนด์โลกใหม่ๆ ทั้งเทรนด์โลกสีเขียว (Green Recovery) กระแสดิจิตัลทั้งภาคผู้บริโภค และภาคการผลิต (Digitalization) และกระแสเทคโนโลยีชีวภาพ (BIO Revolution) ที่จะเข้ามามีบทบาทด้านสุขภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ รัฐได้นำมาปรับใช้เพื่อให้ไทยตามเทรนด์โลก โดยการประกาศนโยบายด้าน BCG (BIO-Economy, Circular Economy และ Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Thailand 4.0 เช่น โครงสร้างพื้นฐานรองรับรถ EV, สร้าง Smart City และ Net Zero Carbon Emission ในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น
ด้านนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ได้กล่าวถึงทิศทางของโลกด้านความยั่งยืนกับความท้าทายธุรกิจ กรณีตัวอย่างที่ต้องคำนึงในการทำธุรกิจของอุตสาหกรรมอาหารทะเล เช่น 1. IUU หรือการทำประมงผิดกฎหมาย 2. สิทธิมนุษยชนของแรงงาน 3. สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง 4. ขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงมนุษย์ และ 5. แนวทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแนวคิดในการดำเนินธุรกิจในยุค Next Normal คือ ความยั่งยืนเป็นทั้งความท้าทายและโอกาส ธุรกิจต้อง "ปิดความเสี่ยง" และ "เปิดโอกาส" ด้าน ESG, ความยั่งยืนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) ทั้งในระดับธุรกิจและประเทศ, ความคาดหวังและกฎเกณฑ์เรื่อง ESG จากลูกค้า นักลงทุน ภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ จะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทิศทางโลกเดินหน้าสู่ low-carbon and circular economy ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ธุรกิจที่ปรับตัวเร็วและแรงจะได้เปรียบคู่แข่ง ไม่ตกขบวน และได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงนี้
"ผู้ประกอบการที่มีความสนใจเรื่องการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนสามารถห้าอมูลได้ทั่วไป นอกจากนี้ ผู้ประกอบการชั้นนำมีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก" นายธีรพงศ์ กล่าว
ด้านนางลีน่า อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) กล่าวถึงตัวอย่างการดำเนินการอย่างยั่งยืนว่า บริษัทฯ ได้มีการวางแผนนิคมอุตสาหกรรมในภาพรวม โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และที่สำคัญที่สุดคือด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มีการบริหารจัดการน้ำ โดยไม่มีน้ำเสีย 100% ลดการสร้างขยะด้วยการนำกลับมารีไซเคิล และนำพลาสติกมาเป็นส่วนผสมในการทำถนน
ในขณะเดียวกัน ยังดำเนินโครงการ Smart Streetlight ไฟริมถนนแบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ และประหยัดพลังงาน และโครงการแผงโซลาร์เซลล์บนน้ำ ที่ขณะนี้เริ่มดำเนินการแล้วที่นิคมอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี และระยอง นอกจากนี้ หลังจากช่วงวิกฤติโควิด-19 ยังได้มีการพัฒนาโครงการ AMATA Smart City หรือเมืองอัจฉริยะด้วย
"การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนต้องคิดในภาพรวมแบบระยะยาว ที่สำคัญต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไม่ส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง" นางลีน่า กล่าว