ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองพันธบัตร 5 แสนลบ.ดันผลตอบแทนตลาดเงิน-ดอกฝากขึ้นสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 2, 2007 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขออนุมัติวงเงินเพิ่มเติมสำหรับการออกพันธบัตรอีก 500,000 ล้านบาท หลังจากที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติวงเงินเพิ่มเติมไปแล้ว 400,000 ล้านบาทในช่วงต้นปี สร้างความกังวลให้กับตลาดการเงินพอสมควร เพราะอาจกระทบต่อการระดมเงินทุนหรือการจัดสรรทรัพยากรในระบบ รวมทั้งอาจทำให้เกิดการโยกย้ายเงินออมออกจากเงินฝากธนาคารพาณิชย์ 
ทั้งนี้ การออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องเป็นผลสืบเนื่องจากแนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ยังอ่อนค่าลง ทำให้ ธปท.หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง และนำมาสู่การดูดซับสภาพคล่องเงินบาทออกจากระบบ
สำหรับยอดคงค้างพันธบัตร ธปท.ที่มีแนวโน้มขยับเข้าสู่ระดับ 2.0 ล้านล้านบาท หากออกพันธบัตรเต็มจำนวนที่ขออนุมัติ เทียบกับยอดคงค้างที่ 1.2 ล้านล้านบาท ณ สิ้นก.ย.50 แม้ว่าอาจจะสร้างความกังวลให้กับตลาดการเงิน เพราะธปท.ต้องแบกรับภาระหนี้ในจำนวนที่สูงขึ้นในอนาคต แต่หากธปท.มีการนำเงินตราต่างประเทศที่ได้รับมา ไปบริหารจัดการจนเกิดดอกผลเป็นกำไรสุทธิที่สูงกว่าต้นทุนการออกพันธบัตรธปท.แล้ว ฐานะการดำเนินงานของธปท.ก็คงจะไม่ใช่ประเด็นที่น่าวิตกกังวลจนเกินไปนัก
นอกจากนี้ ในกรณีที่ธปท.เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทแล้วมีประสิทธิผล นอกจากจะช่วยให้เงินบาทชะลอการแข็งค่าและช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะมีต่อกลุ่มผู้ส่งออกแล้ว ต้นทุนของการ Sterilization ปริมาณเงินของธปท.อาจจะมีแนวโน้มลดต่ำลงอีกด้วย เนื่องจากนักลงทุนที่มีเป้าหมายเพื่อการเก็งกำไร น่าจะเพิ่มความระมัดระวังและชะลอการนำเข้าเงินทุนลง
สำหรับประเด็นผลกระทบต่อสภาพคล่องและต้นทุนทางการเงินนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ถึงแม้ว่าการออกพันธบัตรธปท. อาจจะไม่ได้มีผลทำให้สภาพคล่องสุทธิในระบบเปลี่ยนแปลงไปมากนัก เพราะเป็นการดูดซับสภาพคล่องเงินบาทออกจากระบบ จากที่มีเพิ่มขึ้นตามการไหลเข้าสุทธิของเงินลงทุนจากต่างประเทศ แต่การโยกย้ายเปลี่ยนมือกันของเงินบาทที่ธปท.หามาแลกกับเงินตราต่างประเทศ ไปสู่นักลงทุนที่นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาแลก ก็น่าที่จะมีผลผลักดันให้ต้นทุนทางการเงินของเงินบาทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อีกทั้ง เมื่อพิจารณาถึงปริมาณสภาพคล่องในระบบที่อาจมีแนวโน้มลดลงตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 51 การออกพันธบัตรของธปท.ในวงเงินที่ค่อนข้างสูง อาจมีผลกระทบต่อการระดมเงินทุนหรือการจัดสรรทรัพยากรในระบบ (crowding out) รวมทั้งอาจมีผลทำให้เกิดการโยกย้ายเงินออมออกจากเงินฝากธนาคารมาเป็นการลงทุนในพันธบัตรธปท.หรือการลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ มากขึ้น
ทิศทางดังกล่าว อาจนำมาสู่การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนในตลาดการเงินและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบางประเภทของธนาคารพาณิชย์ในท้ายที่สุด ทั้งๆ ที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปของธนาคารพาณิชย์อาจจะยังไม่ปรับขึ้น เพราะรอการส่งสัญญาณนโยบายอัตราดอกเบี้ยจากทางการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ