ทาเคฮิเดะ คิอุจิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากโนมูระ ซิเคียวริตี้ส์ ไฟแนนเชียล แอนด์ อิโคโนมิค รีเสิร์ช กล่าวว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้นั้น อาจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ความไม่แน่นอนในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐ อาจจะทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้
ทั้งนี้ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2550 เพิ่มขึ้น 0.6% จากไตรมาสที่ 2 แตะระดับ 2.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ 10 คนที่ธอมสัน ไฟแนนเชียล นิวส์ได้สำรวจความคิดเห็น คาดการณ์ว่า GDP จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจทั่วโก และการลงทุนในภาคธุรกิจ
"ตัวเลข GDP ในช่วงไตรมาสที่ 3 แข็งแกร่งเกินคาด และแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นค่อยๆฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง" คิอุจิกล่าว
"GDP ที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารกำลังจับตาดูสถานการณ์ในตลาดเงินและเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของสหรัฐมากขึ้น" เขากล่าว
ทั้งนี้ ยอดส่งออกสินค้าในช่วงไตรมาสที่ 3 ขยายตัวขึ้น เนื่องมาจากความต้องการสินค้าในสหภาพยุโรปและเอเชียเพิ่มขึ้น และคาดว่ายอดส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 4 จะยังขยายตัวขึ้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจทั่วโลก แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ว่า ยอดส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐจะลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจซบเซาก็ตาม
"ยอดส่งออกของญี่ปุ่นซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจในประเทศนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นสามารถรับมือและฟื้นตัวจากสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐที่ชะลอตัวลงได้ดี" เขากล่าว ธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย วณิชชกร ควรพินิจ/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--