นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 5/64 ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.64 ได้เห็นชอบโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 (สายเหนือและสายใต้) เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกแล้ว ซึ่งให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พิจารณาดำเนินการ มีงบประมาณจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) จำนวน 14,382 ล้านบาท สำหรับดำเนินการก่อสร้างทางด่วน ตอน N2 และ E-W Corridor จากแยกเกษตร-นวมินทร์ เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 10.5 กม ซึ่งมีความพร้อมแล้ว
ส่วนตอน N1 ยังติดปัญหาช่วงผ่านหน้า ม.เกษตรฯ ได้มอบให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปเจรจากับ ม.เกษตรฯ เพื่อร่วมกันพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย รูปแบบการก่อสร้าง โดยกระทรวงคมนาคมจะรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ส่วนเรื่องการปรับรูปแบบเป็นอุโมงค์ก็เป็นทางเลือกที่คิดไว้ แต่การทำเป็นอุโมงค์ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังเป็นทางเลือกที่จะหารือกับม.เกษตรว่า มีความเห็นอย่างไร ซึ่งอุโมงค์ใช้เงินลงทุนมาก ก็ต้องเก็บค่าใช้บริการแพง
"การดำเนินโครงการอาจมีความเห็นหลากหลาย ก็มาหารือกัน ต้องบอกว่าทำแบบนี้ประโยชน์คืออะไร สิ่งที่ ม.เกษตรฯ กังวลเรื่องเสียง เรื่องฝุ่น เรามีวิธีแก้ไขอะไร ถ้าอธิบายแล้ว ม.เกษตรฯ เห็นด้วย ก็เดินหน้าเต็มที่ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็ต้องทำเท่าที่เห็นด้วย เพราะสิ่งที่เป็นข้อจำกัดเรื่องนี้ คือ ภาระอัตราดอกเบี้ยของ TFF วันนี้ไม่ได้ทำอะไรเลย จ่ายอย่างเดียว ในแง่ของการบริหารถือว่าไม่โอเคโดยในส่วนของการหารือกับ ม.เกษตร จะดำเนินการคู่ขนานไปกับการนำเสนอ ตอน N2 เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ คาดว่า N2 จะเสนอ ครม. และเปิดประมูลในปี 2565"
อย่างไรก็ตามโครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ จะมีความสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการทั้ง N1, N2 เพราะเป็นโครงข่ายเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อและถ่ายโอนปริมาณจราจรจากงามวงศ์วานไปยังวงแหวนตะวันออก จึงต้องมาคุยกันถึงข้อดีข้อเสีย ส่วนกรณี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) นั้นไม่ได้ติงเรื่องนี้เพียงแต่สภาพัฒน์ฯ ต้องการดูผลตอบแทนการลงทุนและผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ ในขณะที่ ตอน N2 ที่ต้องดำเนินการ เพราะว่าปัญหาการจราจรติดขัดค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องมีทางออกอยู่แล้ว แต่ละเรื่องก็จะมีปัจจัยที่จะเข้าไปสู่ความสำเร็จแตกต่างกัน