นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง จากการขับเคลื่อนตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมก้าวหน้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ ด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล
ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำให้ไทยรักษาความเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย (Detroit of Asia) โดยให้เตรียมพร้อม Up-skill / Re-skill ของภาคการผลิตของไทย สร้างนวัตกรรมใหม่ สร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งเป็นทิศทางการผลิตของยานยนต์โลก รวมทั้งนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และแก้ปัญหามลพิษ ฝุ่น PM 2.5 เพื่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ไทยตั้งเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า Zero Emission Vehicles หรือ ZEV จำนวน 725,000 คันต่อปี หรือ 30% ของการผลิตรถยนต์ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) โดยได้มีนโยบายในการดึงดูดและเอื้อต่อการลงทุนที่หลากหลาย อาทิการ สนับสนุนการลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น สถานีชาร์จ ธุรกิจซ่อมบำรุง และธุรกิจซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชันอำนวยความสะดวกต่างๆ อีกด้วย
"รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญ และได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ไทยยังคงความเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย (Detroit of Asia) เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างรายได้เข้าประเทศในอนาคต คาดการณ์ว่าในปี 2573 ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะสูงถึง 25 ล้านคัน โดยตลาดที่ขยายตัวชัดเจนและจะเป็นโอกาสของไทย คือ จีน ยุโรป สหรัฐฯ และอินเดีย" นายธนกร กล่าว
นายธนกร กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย คิดเป็นประมาณ 5.9% ของ GDP หรือประมาณ 11% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมในปี 2563 ไทยมีการผลิตรถยนต์รวม 1.4 ล้านคัน เป็นอันดับที่ 11 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกรวม 919,000 ล้านบาท และยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2564 การผลิตรวมราว 1.6 ล้านคัน ขยายตัว 15% และปี 2565 คาดว่าการผลิตจะขยายตัวอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน โดยโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ประกอบด้วยผู้ผลิตรถยนต์ 19 ราย ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ 10 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนมากกว่า 2,300 ราย รวมแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 750,000 คน
ทั้งนี้ ล่าสุดบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ได้ประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท ยกระดับกระบวนการผลิตในโรงงานด้วยเทคโนโลยีและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ล้ำสมัย ถือเป็นการลงทุนในประเทศไทยครั้งใหญ่ในรอบ 25 ปี ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย มูลค่าการลงทุนสะสมกว่า 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 100,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ก็เริ่มลงทุนเดินหน้าผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจรที่ทันสมัย ซึ่งมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นโรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมยังเตรียมขยายกำลังการผลิตสู่ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีตามแผนในอนาคต ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ไทยเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่รายใหญ่ที่สุดอาเซียนด้วย