นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบและรับทราบมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 65 (มาตรการของขวัญปีใหม่) เพื่อเป็นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/65 เติบโตเพิ่มขึ้นอีก 0.7%
รายละเอียด ดังนี้
1.มาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชน ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่
1.1 มาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 กำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในประเทศเท่าที่ได้จ่ายไปให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.65 ไม่รวม ค่าสุรา เบียร์ และไวน์ ค่ายาสูบ ค่าน้ำมันและก๊าซเติมยานพาหนะ ค่าบริการจัดนำเที่ยว ค่าที่พักในโรงแรม ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
1.2 มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินไม่เกิน 3 ล้านบาท ครอบคลุมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด มีผลบังคับใช้สำหรับการโอนและจดจำนองตั้งแต่วันถัดจากวันที่เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.65
2. มาตรการลดภาระผู้ประกอบการและ/หรือประชาชน ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่
2.1 ยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 เป็นระยะเวลา 1 ปี เฉพาะผู้ได้รับอนุญาตขายรายเดิมที่ต้องการขอใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบและไพ่ต่อเนื่องในปีถัดไป ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.65
2.2 ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้บินในประเทศเหลือ 0.20 บาทต่อลิตร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.65 เพื่อช่วยเหลือธุรกิจสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณืโควิด-19
2.3 มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการ ออกไปอีก 5 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.64 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.69 โดยยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้
รวมทั้งผ่อนปรนการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้ สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ลูกหนี้ของเจ้าหนี้ที่มิใช่สถาบันการเงิน และลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ดำเนินการเจรจาร่วมกับสถาบันการเงิน ตามหลักเกณฑ์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64-31 ธ.ค.69 และลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดเหลืออัตรา 0.01% สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธ.ค.69
นอกจากนี้ เพิ่มเติมนิยามเจ้าหนี้อื่นให้รวมถึงบริษัทที่มิใช่สถาบันการเงิน เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกหนี้มากยิ่งขึ้น ดังนี้ (1) บริษัทที่ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน (2) บริษัทที่ประกอบธุรกิจให้เช่าแบบลีสซิ่งที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน และ (3) บริษัทที่มิใช่สถาบันการเงินอื่นซึ่งเข้าร่วมและดำเนินการตามโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64-31 ธ.ค.69
3. มาตรการการเงิน ได้แก่ โครงการของขวัญปีใหม่ปี 65 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ได้จัดทำของขวัญปีใหม่เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่อง ลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การคืนเงินลูกหนี้ธนาคารที่มีประวัติการชำระดี การยกเว้นค่าธรรมเนียมนิติกรรมสัญญาและค่าประเมินหลักประกันส่วนลดค่าบริการและค่างวดสำหรับการค้ำประกันสินเชื่อ เป็นต้น
ทั้งนี้ คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 25,000 ล้านบาท การคืนเงินและรางวัลพิเศษรวม 1,335 ล้านบาท การลดอัตราดอกเบี้ยรวม 4,700 ล้านบาท ส่วนลดค่าบริการและส่วนลดค่างวดสูงสุด รวม 7.43 ล้านบาท
รมว.คลัง ยังกล่าวถึงโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.64 จะไม่มีการขยายระยะเวลาออกไป จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนที่ยังมีสิทธิคงเหลืออยู่เร่งออกมาใช้จ่าย เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยมีทิศทางดีขึ้น รวมถึงนโยบายการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ช่วยสนับสนุนให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคยังมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับศักยภาพของภูมิภาคต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาระบบ รวมทั้งปรับปรุงรูปแบบที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการคนละครึ่งในระยะต่อไป คาดว่าจะสามารถเริ่มโครงการใหม่ได้ในช่วงเดือน มี.ค.65