นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 ธ.ค.2564 นี้ รฟท.ยังคงให้บริการเดินรถไฟตามเส้นทางเดิม และเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เหมือนเดิม ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนไปใช้สถานีกลางบางซื่อแต่อย่างใด โดยปัจจุบัน มีการเดินรถไฟเชิงพาณิชย์ 40 ขบวน รถไฟท่องเที่ยว 6 ขบวน ลดลงจากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีการเดินรถไฟเชิงพาณิชย์ 84 ขบวน มีรถไฟเชิงสังคม 40 ขบวน ลดลงจาก 52 ขบวน เส้นทางเดินรถและการจอดรับส่งผู้โดยสารยังเป็นไปตามเดิมทุกอย่าง
การชะลอการให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อออกไป เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้เดินทางตามเดิมในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 และได้มีเวลาปรับตัวกับบริการใหม่ และเพื่อให้มีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น โดย รฟท.จะต้องทำการบ้านต่อ คือ จัดทำเช็กลิสต์ เพื่อกำหนดแนวทางในการเปลี่ยนถ่ายการเดินรถไปสถานีกลางบางซื่อ สำหรับรถไฟทางไกลขึ้นไปใช้บนโครงสร้างทางยกระดับสายสีแดง ซึ่งจะกระทบกับการให้บริการเดิมที่จะไม่หยุดรับส่ง สถานีบางเขน สถานีหลักสี่
รวมทั้งศึกษาแนวทางที่เหมาะสมและสมดุล และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และให้สามารถใช้สถานีกลางบางซื่อและสถานีหัวลำโพงควบคู่กันไปอย่างเหมาะสม เพราะสถานีบางซื่อมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 40 ล้านบาท ส่วนหัวลำโพงมี ประมาณ 10 ล้านบาท การมีสถานีใหญ่ 2 แห่ง เป็นภาระค่าใช้จ่ายของ รฟท.อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเดินรถเชิงพาณิชย์ การเดินรถเชิงสังคมรูปแบบและวิธีการเชื่อมต่อ การใช้ตั๋วโดยสารสำหรับรถทางไกล ต่อกับสายสีแดง โดยจะสำรวจความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทุกมิติ ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รวมไปถึงอาจต้องฟังเสียงคนบนถนนที่ต้องรถติดเพื่อรอรถไฟ ชุมชนรอบเส้นทาง รอบสถานีหัวลำโพง
ทั้งนี้ รฟท.จะรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนใน 30 วัน จากนั้นจะทำเป็น Action Plan กำหนดรถเข้าหัวลำโพง,การใช้สถานีกลางบางซื่อให้เต็มประสิทธิภาพ,การต่อเชื่อมบริการกับสายสีแดง,การจัดระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อทดแทนต่อไป
สำหรับแผนการปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถที่คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 65 หลังจากดำเนินการสำรวจความเห็นและทำ Action Plan นั้น รถเชิงพาณิชย์ รถไฟทางไกล จะเปลี่ยนต้นทางเป็นสถานีกลางบางซื่อ 28 ขบวน (สายเหนือ 12 ขบวน สายตะวันออกเฉียงเหนือ 16 ขบวน ส่วนสายใต้ 12 ขบวน จะเปลี่ยนต้นทางเป็นชุมทางบางซื่อ (เดิม) รถไฟเชิงสังคม 28 ขบวน จะเปลี่ยนต้นทางเป็นสถานีกลางบางซื่อ และมีรถไฟเชิงสังคม 22 ขบวน ที่ยังคงเข้าสถานีหัวลำโพง (สายเหนือ 4 ขบวน สายอีสาน 2 ขบวน สายใต้ 2 ขบวน สายตะวันออก 14 ขบวน)
นายนิรุฒ กล่าวว่า ตามกฎหมาย การปรับเปลี่ยนการเดินรถแจ้งล่วงหน้า 7 วัน แต่เรื่องนี้ถือว่าใหญ่ ต้องใช้เวลาประชาสัมพันธ์มากกว่านั้น เพื่อให้ประชาชนรับรู้การปรับเปลี่ยนให้มากที่สุด ซึ่งข้อมูลข่าวสารที่ผ่านมาอาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะการสื่อสารกับประชาชนน้อยเกินไป จึงต้องปรับยุทธศาสตร์ในการสื่อสาร พร้อมกับฟังความเห็นประชาชนไปด้วย ซึ่งวันนี้ถือว่ายังไม่ได้ข้อสรุปเพราะสมมุติฐานที่วางไว้อาจจะยังมีผลกระทบต่อประชาชนอยู่ก็ต้องพิจารณากันให้รอบด้านอีก
นายนิรุต กล่าวอีกว่า เรื่องการใช้ประโยชน์สถานีกลางบางซื่อ และสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีผลการศึกษาและมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 7 พ.ย.49 ต่อมา ครม.วันที่ 22 พ.ค.50 ครม.อนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ซึ่งกระทรวงคมนาคมและสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งรถไฟสายสีแดงเป็นรถไฟชานเมือง มีรางขนาด 1 เมตร เพื่อให้รถไฟปัจจุบันสามารถใช้โครงสร้างร่วมกันได้ และเพื่อลดปัญหาจุดตัดกับถนน ส่วนการปรับเปลี่ยนแผนการเดินรถเมื่อมีสถานีกลางบางซื่อที่เป็นศูนย์กลางระบบรางทั้งรถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล และรถไฟฟ้า MRT วันนี้สถานการณ์ปัจจุบันที่อาจเปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องพิจารณาให้เหมาะสม
นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ รฟท.กล่าวว่า ต้นทุนกรณีที่มี 2 สถานีใหญ่ คือ สถานีหัวลำโพงและสถานีกลางบางซื่อ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งในการพิจารณาแผนการเดินรถ นอกจากนี้ สถานีหัวลำโพงตั้งมากว่า 100 ปีแล้วไม่รองรับเรื่องแออัด ห้องน้ำมีไม่พอบริการ ส่วนสถานีกลางบางซื่อออกแบบมีฟังก์ชั่นรองรับพร้อม ซึ่งในการพิจารณาจะมีอีกหลายส่วน โดยให้มีผลกระทบต่อประชาชน แต่ไม่ว่าจะออกมาแบบไหน ก็ต้องมีผลกระทบบ้าง แต่ต้องหาโซลูชั่นที่ดีและเหมาะสมที่สุด ที่สำคัญ รฟท.ไม่มีแนวคิดหยุดบริการหัวลำโพง ซึ่งเป็น 1 ใน 445 สถานีทั่วประเทศ โดยจะให้มีบริการรถ เชิงสังคมเพื่อเชื่อมบางซื่อ
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ รฟท. ด้านปฏิบัติการ รฟท.กล่าวว่า จากการพิจารณา พบว่ายังมีผู้ใช้บริการสถานีหัวลำโพง ขบวนรถเชิงสังคมประมาณ 10,000 คน/วัน จึงเห็นว่าควรยังคงเดินรถ 22 ขบวนเข้าสถานีหัวลำโพงต่อไป ส่วนที่เหลือให้ใช้สถานีเปลี่ยนถ่ายที่รังสิต ตลิ่งชันและมักกะสัน (ที่หยุดรถอโศก) จะเริ่มในปี 65
นายนิรุฒกล่าวถึง การพัฒนาสถานีหัวลำโพงว่า รฟท.ยืนยันไม่มีการทุบหรือรื้อ เพราะเป็นสถานีประวัติศาสตร์ทรงคุณค่า แต่จะหาแนวทางพัฒนาอย่างไรให้ยังคงเป็นสถานีรถไฟมีชีวิต ไม่สามารถปล่อยทิ้งร้างได้ ต้องอนุรักษ์และพัฒนาแต่ถูกมองว่า ด้อยค่าสถานี แต่ตนมองว่า การไม่ทำอะไรเลยเป็นการด้อยค่ามากกว่า โดยหลังจากมีสถานีกลางบางซื่อ บทบาทหัวลำโพงจะไม่เหมือนเดิม ซึ่งจากที่ได้มอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาเมื่อ 9 พ.ค. - 5ธ.ค. 2554 ก็มีแบบเป็นตึกสูงเช่นกัน แต่ยังถือเป็นความเห็น ต่อมา ทางสถาบันอาศรมศิลป์ ได้ช่วยศึกษาก็เป็นอีกความเห็น วันนี้ รฟท.มอบหมายบริษัทลูก คือ เอสอาร์ทีแอสเสท จำกัด (SRAT) ศึกษา ก็เป็นอีกความเห็นหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีการตกลง ว่าจะใช้แบบนี้
"เรื่องที่มีการระบุว่าจะเอาที่ไปให้เจ้าสัว เป็นจิตนาการใครไม่ทราบ แต่ถือเป็นความเท็จที่เอามาบอกประชาชน ทำให้ รฟท.เสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง ประชาชนและประเทศก็เสียหาย อยากเรียกร้องว่าอย่าทำร้ายรถไฟไปมากกว่านี้เลย เราเดินตามสิ่งที่ควรเป็น เดินตามกติกาปกติ อย่าจิตนาการ ผู้บริหารรถไฟ ผู้บริหารรัฐบาลมีวัตถุประสงค์แบบนี้ อย่าพูดแบบดักคอกัน ซึ่งรฟท.จะดูบริบทว่าการที่มีการพูดกันแบบนั้นเป็นความเท็จอย่างไร และเข้าข่ายประเด็นทางกกฎหมายอย่างไร จะพิจารณาก่อน แต่ยืนยันว่าจะไม่ให้ใครมาทำร้าย รฟท. เพราะวันนี้หัวลำโพงยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ต้องฟังความเห็นก่อนว่าอยากเห็นหัวลำโพงเป็นอย่างไร และต้องให้การเดินรถเข้าหัวลำโพงมีความชัดเจนก่อน ส่วนการดำเนินการใดๆ จะต้องศึกษา ต้องทำ EIA ก่อน"ผู้ว่า รฟท. กล่าว