นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่าการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับมาตรการทางการเงินการคลังที่มีความต่อเนื่อง เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง
กนง.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 0.9% ในปี 64 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 0.7% ซึ่งการปรับประมาณการเพิ่มขึ้น 0.2% เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 3/64 ออกมาดีกว่าที่คาดไว้ และยังได้รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาล่าสุดไว้แล้ว
ขณะที่ในปี 65 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.4% ลดลงจากที่คาดไว้เดิมที่ 3.9% จาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน และ 2.เศรษฐกิจต่างประเทศ มีแนวโน้มชะลอลงจากการระบาดของไวรัสโอมิครอน ส่วนปี 66 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.7% จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยกลับมามากขึ้น
"เศรษฐกิจไทย คาดว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้ต้นปี 66 โดยสิ้นปี 64 การฉีดวัคซีนคาดว่าจะได้ 70% ส่วนปี 65 เชื่อว่าจะมี supply พอที่จะบูสเตอร์เข็ม 3 ในทุกคน ทำให้การแพร่ระบาดของโอมิครอนน่าจะเป็นความเสี่ยงที่ไม่ยืดเยื้อเกินครึ่งปีหน้า แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง จากการปรับนโยบายทั้งในและนอกประเทศ"นายปิติ กล่าว
อย่างไรก็ดี การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 65 ได้รวมปัจจัยที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศมาตรการล่าสุดไปเมื่อวานนี้ (21 ธ.ค.) แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวลงในต้นปี 65 แต่ กนง.ได้ประมาณการว่าในช่วงครึ่งปีแรกจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เทียบกับครึ่งปีหลังที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมามาก
"ช่วงต้นปีหน้า เราคาดไว้ว่าการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจะค่อยเป็นค่อยไปอยู่แล้ว ดังนั้นมาตรการที่เข้มงวด (ยกเลิก Test&GO) คงจะกระทบไม่มากเท่ากับการเข้มงวดในช่วงครึ่งปีหลัง ที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาเยอะ" นายปิติระบุ
ด้านการฟื้นตัวในหลายสาขาธุรกิจ มีแนวโน้มปรับดีขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ประเมินว่าการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน จะกระทบเศรษฐกิจในช่วงแรกของปี 65 โดยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ผลกระทบอาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดและความเข้มงวดของมาตรการควบคุม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ยังอยู่ต่ำ โดยมองว่ารายได้แรงงานบางส่วนยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างแม้เศรษฐกิจอาจฟื้นเข้าสู่ระดับเดิม
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 64, 65 และ 2566 จะอยู่ที่ 1.2%, 1.7%, และ 1.4% ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 65 โดยประเมินว่ายังมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าคาดในบริบทที่เงินเฟ้อโลกปรับสูงขึ้นเร็ว โดยจะติดตามพัฒนาการของปัจจัยข้างต้นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่สูงขึ้น
"ถ้าดูแลเงินเฟ้อด้วยนโยบายการเงิน ต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งไม่ได้มีข้อจำกัดว่าขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ ขึ้นอยู่กับ กนง.เห็นว่าสมควรหรือไม่ ขณะเดียวกัน ต้องสื่อสารว่าธนาคารกลางให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นอีกเครื่องมือที่ยึดเหนี่ยวให้เงินเฟ้ออยู่ในอัตราที่เหมาะสม" เลขานุการ กนง.ระบุ